Main Menu

ข่าว:

ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่ www.SongkhlaMedia.com เรียนเชิญชาวสงขลาและทุกท่านร่วมขับเคลื่อนเว็บไซต์สาระที่มากกว่าข่าว ร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกันเพื่อสงขลาบ้านเรา

เคล็ดลับปลูก 'ส้มหัวจุก' สำเร็จ ฟื้นไม้ผลเมืองใต้สู่พืชเศรษฐกิจ

เริ่มโดย ฅนสองเล, 09:53 น. วันที่ 13 11 55

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

ฅนสองเล

โดย คมชัดลึก www.komchadluek.net

ย้อนไปกว่า 30 ปีก่อน ส้มจุกนับเป็นผลไม้ท้องถิ่นในภาคใต้ตอนล่าง ได้ความนิยมจากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะไปหนใด โดยเฉพาะตามตลาดนัด สถานีรถไฟ หรือคิวรถประจำทาง จะมีพ่อค้า-แม่ค้านำส้มหัวจุกที่ร้อยด้วยลวดเป็นพวง พวงละ 5-10 ผล มาขายแทบทุกแห่ง แต่หลังจากส้มเขียวหวานโชกุนมาตีตลาดทำให้ส้มหัวจุกหายไปจากท้องตลาดมายาวนาน กระทั่งเมื่อ 4 ปีก่อน มีเกษตรกรในพื้นที่ จ.สงขลา หันมาฟื้นปลูกส้มหัวจุกอีกครั้ง ปรากฏว่าเป็นที่ต้องการของตลาด มีเท่าไรขายได้หมด และราคายืนพื้นคงที่กิโลกรัมละ 70 บาท มาตลอด จนกลายเป็นไม้ผลเศรษฐกิจของภาคใต้ตอนล่างอีกครั้ง

                    ธีรพงษ์ ทองวงศ์ เกษตรกรในพื้นที่บ้านไร่อ้อย หมู่ 5 ต.ฉลุง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่หันมาฟื้นฟูปลูกส้มหัวจุกยุคระลอกใหม่ โดยมีพื้นที่ปลูก 6 ไร่ จนประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ปัจจุบันส้มหัวจุกของธีรพงษ์กำลังให้ผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวน 150 ต้น ส่งขายในตลาดหาดใหญ่ในราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 70 บาท และแม่ค้ารับซื้อไม่จำกัดปริมาณ ทำให้ผลผลิตส้มหัวจุกจากสวนธีรพงษ์ในแต่ละรุ่นไม่เพียงพอต่อความต้องการตลาด

                    "ส้มหัวจุกจะออกผลผลิตทั้งปี อย่างในสวนของผมต้นส้มหัวจุก 1 ต้น ให้ผลผลิตได้ปีละ 3,000 กิโลกรัม ถ้าดินดี เราดูแลส้มหัวจุก 1 ต้น สามารถให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นอีก 2 เท่า เป็น 6,000 กิโลกรัมต่อต้นต่อปี แต่ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและการดูแล ผมเห็นว่า ตอนนี้ผลส้มหัวจุกราคาดี ตั้งผมปลูกมา 4 ปี ราคาไม่เคยต่ำกว่า กิโลกรัมละ 70 บาท ผมจึงขยายพื้นที่การปลูกเพิ่มขึ้นอีก 2,000 ต้น เพราะเห็นว่าส้มหัวจุกตัวนี้เป็นผลไม้เศรษฐกิจที่อนาคตสดใสอีกตัวหนึ่ง" ธีรพงษ์ กล่าว

                    เคล็ดลับในการปลูกส้มหัวจุกให้ประสบความสำเร็จ ธีรพงษ์ บอกว่า วิธีปลูกไม่ว่าจะเป็นที่ลุ่มหรือพื้นที่ดอน ต้องมีการยกร่อง เพื่อให้ระบบรากระบายน้ำออกจากระบบรากอย่างรวดเร็ว ระยะปลูกคือ ระยระหว่างแถว 5-6 เมตร ระยะระหว่างต้น 4-5 เมตร ขุดหลุมขนาด 50x50 ซม. รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกก่อนปลูก เมื่อปลูกแล้วจะต้องมีระบบการจัดการสวนที่ดี ทั้งการดูแลให้น้ำ ใส่ปุ๋ย ซึ่งการใส่ปุ๋ยนั้น ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก 2-3 เดือนต่อครั้ง ตั้งแต่เริ่มปลูก พร้อมกับการฉีดพ่นปุ๋ยธาตุอาหารเสริมทางใบด้วย

                    ในสวนของธีรพงษ์พันธุ์ส้มหัวจุกที่จะนำมาปลูกต้องปลอดโรคส่วนพันธุ์ที่เขาปลูกนั้น ซื้อมาจากคณะทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ซึ่งมีการปรับปรุงสายพันธุ์ให้ปลอดโรค และอีกอย่างที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การจัดการกับแมลงศัตรูพืช โดยเฉพาะแมงวันวันทอง ซึ่งเป็นศัตรูตัวร้ายของส้มหัวจุก แต่ห้ามใช้สารเคมีอย่างเด็ดขาด ควรใช้สารล่อแมลงใส่ไว้ในขวดพลาสติก จะได้ผลมากกว่า จึงจะได้ส้มหัวจุกที่มีคุณภาพปลอดสารพิษ ผลโต และเป็นที่ต้องการของตลาด

                    "ส้มหัวจุกถือเป็นไม้ผลพันธุ์พื้นเมืองของภาคใต้ที่หากินยากลักษณะคล้ายส้มเช้ง แต่ผลใหญ่กว่า ที่หัวเป็นจุก เปลือกล่อนเหมือนส้มโชกุน ใช้ปอกด้วยมือได้ เป็นส้มที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่คนส่วนใหญ่ชอบ เพราะลูกใหญ่ รสหวานกลมกล่อมอมเปรี้ยวเนื้อหนา และเวลาปอกเปลือกผิวจะหอมมาก ใช้ระยะเวลาการปลูกเพียงแค่ 3-4 ปี ก็เริ่มให้ผลผลิตออกสู่ตลาดได้แล้ว" ธีรพงษ์ กล่าว

                    จากความสำเร็จในการปลูกส้มหัวจุกในเชิงเศรษฐกิจของ ธีรพงษ์ ทำให้วันนี้สวนธีรพงษ์กลายเป็นจุดถ่ายทอดความรู้การปลูกส้มหัวจุกประจำ ต.ฉลุง อ.หาดใหญ่ อีกด้วย ปัจจุบันมีหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งเกษตรกรเดินทางไปศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้เขาทำเรื่องส่งไปยังกรมวิชาการเกษตร เพื่อให้สวนส้มหัวจุกของเขาแห่งนี้ เป็นแหล่งผลิตพืชแกพ (GAP) หรือพืชปลอดสารพิษอีกด้วย

                    เกษตรกรที่สนใจ หรือต้องการสอบถามข้อมูลการปลูกส้มหัวจุกให้ประสบความสำเร็จ หรือต้องการไปศึกษาดูงานในพื้นที่ สามารถรติดต่อ ธีรพงษ์ ได้ที่หมายเลข โทร.08-1969-3928

--------------------
(เคล็ดลับปลูก 'ส้มหัวจุก' สำเร็จ ฟื้นไม้ผลเมืองใต้สู่พืชเศรษฐกิจ : โดย...สันติภาพ รามสูต)
สองเลรีวิว กดติดตามได้ที่
www.facebook.com/songlayreview
www.youtube.com/@Songlayreview
www.tiktok.com/@songlayreview22
รีวิวบ้านบ้าน ข่าวสารเข้มข้น สองเลรีวิว TLP : 0897384215