Main Menu

ข่าว:

ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่ www.SongkhlaMedia.com เรียนเชิญชาวสงขลาและทุกท่านร่วมขับเคลื่อนเว็บไซต์สาระที่มากกว่าข่าว ร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกันเพื่อสงขลาบ้านเรา

กลลวง หลอกให้โอนเงิน (ทันกลคนโกง 2)

เริ่มโดย สงขลามีเดีย, 10:45 น. วันที่ 11 03 56

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

สงขลามีเดีย

สุเทพ พงษหา
ผู้วิเคราะห์อาวุโส ส่วนคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน
ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

หลายๆ ครั้งที่ดูข่าวประชาชนถูกหลอกให้โอนเงินไปให้กับกลุ่มมิจฉาชีพแล้ว รู้สึกเห็นใจคนที่ถูกหลอก เพราะโอกาสที่จะได้เงินคืนอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นศูนย์ ข่าวดังกล่าวถึงแม้จะมีการนำเสนออย่างต่อเนื่องในสื่อต่าง ๆ แล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีผู้คนอีกจำนวนมากที่ต้องตกเป็นเหยื่อและสูญเสียเงินทองที่เก็บออมสะสมไว้อย่างยาวนาน ให้กับพวกมิจฉาชีพภายในเวลาไม่กี่นาที

จากการติดตามข่าวจะเห็นได้ว่า เหล่ามิจฉาชีพ มีพัฒนาการคิดค้นวิธีทำมาหากินในรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อนำมาซึ่งความเจ็บช้ำให้กับเหยื่อได้อย่างต่อเนื่อง รูปแบบการหลอกลวงให้เหยื่อโอนเงิน เริ่มต้นจากวิธีการติดต่อกับเหยื่อโดยการส่งจดหมาย แล้วปรับเปลี่ยนวิธีการไปตามความก้าวหน้าของระบบการสื่อสารและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป กล่าวคือ

การส่งจดหมาย หากยังพอจำกันได้รูปแบบการหลอกลวงให้โอนเงิน ที่เริ่มต้นจากจดหมาย ฮิตที่สุดและรู้จักกันดีก็น่าจะเป็นจดหมายที่อ้างว่าส่งมาจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เพื่อหลอกให้ชาวบ้านอย่างเราๆ ท่านๆ โอนเงินไป เพื่อแลกกับตัวเลขชุดรางวัลที่กองสลากจะนำมาออกในงวดต่อ ๆ ไป มีชาวบ้านจำนวนไม่น้อยที่หลงเชื่อตกเป็นเหยื่อเป็นข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีข่าวผู้เสียหาย จากการหลงเชื่อจดหมายดังกล่าวอย่างต่อเนื่องมีให้เห็นเป็นระยะ ๆ

การใช้โทรศัพท์โทรหลอกลวง มี 2 ลักษณะ คือ หลอกให้ดีใจหรือหลอกให้ตกใจกลัว

กรณีหลอกให้ดีใจ ก็มีหลายรูปแบบ ได้แก่ โทรศัพท์หลอกว่าจะได้รับเงินภาษีคืนซึ่งมียอดค่อนข้างสูง โดยจะบอกให้เราไปที่ตู้ ATM แล้วทำรายการตามที่เขาแจ้งเพื่อจะได้ภาษีคืน หรือบอกว่าเป็นผู้โชคดีได้รับรางวัลใหญ่ เช่น เป็นรถยนต์ยี่ห้อหนึ่งราคาไม่รวมภาษีหลายแสนบาท โดยจะสอบถามต่อว่า เราจะสละสิทธิ์หรือรักษาสิทธิ์ หากต้องการรักษาสิทธิ์ก็จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าภาษีการถูกรางวัลร้อยละ 5 และขอให้โอนเงินค่าภาษีดังกล่าวไปให้บริษัทก่อน เพื่อเป็นการรักษาสิทธิ์ไว้หากเราตอบว่ามีเงินไม่พอ ทางปลายสายก็จะแสดงความเห็นใจและขอให้รักษาสิทธิ์ โดยโอนเงินไปให้บางส่วนก่อน แล้วในส่วนที่เหลือค่อยมาจ่ายตอนรับรถ ซึ่งในสถานการณ์ที่รบเร้าให้เรารีบตัดสินใจตอนนั้น หากเราตามไม่ทันมิจฉาชีพ และเกิดความลังเลว่า จะปฏิเสธหรือขอสละสิทธิ์การรับรางวัลที่มิจฉาชีพนำมาล่อ ก็จะทำการโอนเงินให้กับมิจฉาชีพ

   กรณีหลอกให้ตกใจกลัว มีการพัฒนารูปแบบให้ดูน่ากลัวขึ้นไปเรื่อย ๆ เช่น โทรศัพท์หลอกว่า ลูกหลานของเราไปค้ำประกันเพื่อนที่เล่นการพนันบอล หรือไม่ก็ลูกหลานเราเองเล่นพนันบอลเสียไม่ยอมจ่ายเงิน ตอนนี้ถูกจับตัวไว้พร้อมมีเสียงทุบตีให้ได้ยินคล้ายกับเสียงลูกหลานของเราร้องขอความช่วยเหลืออย่างน่าเวทนา โดยมิจฉาชีพจะขู่ไม่ให้เราไปแจ้งความและให้หาเงินมาไถ่ตัวโดยวิธีโอนเงินไปให้ หากไม่ทำตามมันจะทำร้ายตัดอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งส่งมาให้ดู หากเรากลัวหลงเชื่อไม่สอบถามไปยังปลายทางที่อยู่ของลูกหลานเราก่อน และทำตามที่มิจฉาชีพบอก เราก็จะเสียเงินทันที ทั้งที่ลูกหลานของเราก็ยังอยู่ปกติไม่รู้เรื่องอะไรเลย

หรือที่นิยมและเป็นข่าวมากที่สุดก็เป็นโทรศัพท์ที่ระบุว่าโทรจาก Call center ของธนาคารใดธนาคารหนึ่งแจ้งว่าท่านเป็นหนี้บัตรเครดิตและยังค้างชำระอยู่ วิธีการหลอกลวงจะสร้างความน่าเชื่อถือโดยทำเป็นส่งเรื่องต่อให้หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง มีการขอข้อมูลส่วนตัวเช่น ชื่อนามสกุล วันเดือนปีเกิด เลขประจำตัวประชาชน แล้วอ้างว่าข้อมูลของเราโดยเฉพาะข้อมูลทางการเงินกำลังถูกมิจฉาชีพเจาะเข้าระบบฐานข้อมูล ตรวจสอบแล้วพบว่ากำลังจะได้รับความเสียหายเร็วๆ นี้ ให้เรารีบไปสถานที่ยอดฮิตของมิจฉาชีพ คือ ตู้ ATM เพื่อทำรายการตามที่มิจฉาชีพแนะนำ ซึ่งท้ายสุดหากเราหลงเชื่อทำตามที่พวกมิจฉาชีพสั่ง เพราะเชื่อว่าทำตามแล้วจะปลอดภัยหรือไม่เกิดความเสียหายทางการเงิน นั่นก็แสดงว่าเราได้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพแล้ว

   หลอกผ่านสังคมออนไลน์หรือโซเซียลเน็ทเวิร์ค รูปแบบการหลอกมิจฉาชีพจะใช้วิธีสมัครเป็นเพื่อนทาง E-mail หรือ Facebook เข้ามาแลกเปลี่ยนส่งข้อความสนทนาสร้างความเป็นกันเองให้เราตายใจว่า เขาคือเพื่อนที่แสนดีของเรา และเมื่อเร็ว ๆ นี้คนใกล้ตัวผมได้เล่าเรื่องที่เกี่ยวกับเพื่อนเขาว่า เพื่อนเขาได้โอนเงินไปให้เพื่อนชาวต่างชาติที่รู้จักกันทาง Facebook ซึ่งมีการโอนเงินไปแล้ว 3 ครั้ง รวม 6 หมื่นบาท ผมได้ขอเบอร์และโทรไปสอบถามเพื่อนคนนี้ ซึ่งตอนแรกที่ผมโทรไป เพื่อนซึ่งตอนนี้ได้กลายเป็นผู้เสียหายยังไม่เชื่อว่าถูกหลอก ตรงกันข้ามผู้เสียหายจะแก้ตัวให้มิจฉาชีพ (ที่ตนเองเรียกมิจฉาชีพคนนั้นว่าเพื่อนด้วยซ้ำ)

ทำไมผู้เสียหายจึงเชื่อได้ขนาดนั้น ฟังจากการเล่าแล้วจะเห็นความเนียนของมิจฉาชีพที่อ้างชื่อว่า ริชาร์ด ผู้เสียหายบอกว่ารู้จักริชาร์ดมานานแล้ว (นานเท่าไหร่ผมไม่กล้าซักถาม)

ริชาร์ดอ้างว่า ?มีพ่อทำงานอยู่ที่บริษัทขุดเจาะน้ำมันกลางทะเลของมาเลเซีย ต่อมาพ่อเสียชีวิต บริษัทจ่ายเช็คให้ทายาท 10 ล้านริงกิต แต่ก็ติดปัญหาเล็กๆ น้อยๆ เงินมีไม่พอเปิดบัญชี?

ผู้เสียหายทราบเรื่องรู้สึกเห็นใจจึงส่งข้อความสอบถามไปว่าต้องใช้เงินเยอะไหม

ริชาร์ดแจ้งมาว่า ?หนึ่งพันสองร้อยริงกิต? เป็นเงินไทยก็ประมาณหมื่นสองพันบาท

ในการสนทนาริชาร์ดยังไม่เอยปากยืม ผู้เสียหายจึงเสนอให้ยืมแต่ขอให้ริชาร์ดตอบแทนความมีน้ำใจให้เธอบ้าง ทีนี้เข้าทางนายริชาร์ดทันที  ริชารด์ เสนอ 1 ล้านริงกิตให้ โดยขอให้ผู้เสียหายแจ้งเลขที่บัญชีธนาคารที่จะให้โอนเงินคืนให้ไปด้วย ซึ่งก็ทำให้ผู้เสียหายเชื่อใจริชาร์ดมากขึ้น หลังจากมีครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 ก็ตามมาอีก 8 ร้อยริงกิต และครั้งที่ 3 มีตัวละครชื่อ Maybank (ธนาคารในมาเลเซีย) เพิ่มมาสร้างความน่าเชื่อถือ แจ้งมาว่า ?ริชาร์ดต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่มอีก 4 พันริงกิต?

และยืนยันว่า ?เมื่อเช็คโอนเข้าบัญชีนายริชาร์ดแล้ว ธนาคารจะเป็นผู้โอน 1 ล้านริงกิตคืนเข้าบัญชีผู้เสียหายทันที? พร้อมกันนี้ก็สร้างความน่าเชื่อถือโดยแนบแบบฟอร์มเอกสารของธนาคารให้ผู้เสียหายกรอกรายละเอียดชื่อธนาคารและเลขที่บัญชีที่จะให้ธนาคารโอนเงินคืนให้ ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอน 4 พันริงกิตไปให้ (ตอนพูดคุยกันผู้เสียหายยังเชื่อว่าจะได้เงิน 1 ล้านริงกิตจริง)

เมื่อผมฟังเขาเล่ามาถึงตอนนี้ ผมได้บอกผู้เสียหายว่าถ้าถึงวันที่อีกฝ่ายตกลงจะโอนเงินคืนให้ แล้วเขาไม่ได้ทำตามที่ตกลงกันไว้ ซึ่งอาจจะขอให้เราจ่ายเพิ่มไปให้อีก และไม่ว่าจะใช้เหตุผลอะไรก็อย่าทำตามที่เขาร้องขอ ซึ่งก็ได้ผล

หลังจากนั้นอีก 3 วันผู้เสียหายก็มาพบและขอความช่วยเหลือ เชื่อไหมครับว่า บัญชีที่ผู้เสียหายโอนเงินไปให้ริชาร์ดเป็นบัญชีของคนไทย เจ้าของบัญชีมีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดสระบุรี ผมแนะนำให้ผู้เสียหายเอาข้อมูลทั้งหมดไปแจ้งความ เพื่อเอาผิดกับเจ้าของบัญชีด้วยซึ่งก็คงจะเป็นบัญชีที่มิจฉาชีพไปจ้างชาวบ้านเปิดไว้เหมือนกับที่เคยเป็นข่าวมาแล้ว ส่วนเรื่องการติดตามเอาเงินคืนคงเป็นเรื่องยาก


   ที่ผมเขียนมาก็อยากจะให้เป็นอุทาหรณ์เตือนใจ หากมีเรื่องที่เกี่ยวกับการเงินที่ท่านผู้อ่านไม่มั่นใจและรู้สึกไม่ค่อยชอบพามากล ก็ไม่ควรรีบตัดสินใจกระทำการทันที ควรตั้งสติให้มั่นและปรึกษาคนรอบข้างก่อน รวมทั้งเมื่อพบปัญหาจากการใช้ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เปิดศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) แล้ว ท่านสามารถโทรเข้าไปปรึกษาได้ที่ เบอร์ 1213 เสียเวลาไม่กี่นาที ปัญหาที่มีก็จะคลี่คลายไปในทางที่ดีแน่นอน

         
---------------------------------------------------------------
- บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
- ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
สนับสนุนโดย
- กฟผ.โรงไฟฟ้าจะนะ www.chana.egat.co.th/home
- มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา www.skru.ac.th
- ธีระการช่าง หาดใหญ่ โทร 086-4910345 www.facebook.com/teerakarnchanghy