Main Menu

ข่าว:

ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่ www.SongkhlaMedia.com เรียนเชิญชาวสงขลาและทุกท่านร่วมขับเคลื่อนเว็บไซต์สาระที่มากกว่าข่าว ร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกันเพื่อสงขลาบ้านเรา

สรุปข่าวเด่นบันเทิงปี 2556 : ทวนเนื้อหา พ.ร.บ.มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

เริ่มโดย สงขลามีเดีย, 10:17 น. วันที่ 08 01 57

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

สงขลามีเดีย

โดย ไทยพีบีเอส http://news.thaipbs.or.th

นับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมาไทยมีมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ขึ้นทะเบียนไปแล้ว 218 รายการโดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม แต่ยังไม่มีกฎหมายรองรับหรือคุ้มครองให้สมบัติทางวัฒนธรรมดำรงอยู่ได้ จึงมีความพยายามผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ขึ้นมาตั้งแต่เดือน ตุลาคม ซึ่งก็ถูกวิจารณ์ว่า รายละเอียดในข้อกฎหมายเป็นการแช่แข็งวัฒนธรรม

ความคิดเห็นจากคนวงในที่มีต่อร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ เตรียมนำมาใช้เพื่อคุ้มครองและส่งเสริมมรดกวัฒนธรรมที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้วใน 7 สาขา เช่นศิลปะการแสดง แนวปฏิบัติทางสังคมพิธีกรรม ว่าข้อกฎหมายในร่าง สร้างปัญหามากกว่าผลดี มีกระแสอย่างต่อเนื่องระหว่างปลายปีนี้

ระบุถึงมาตรา 39 ที่ไม่อนุญาตให้ดัดแปลงหรือบิดเบือนจนแตกต่างไปจากสาระสำคัญเดิม เว้นแต่แจ้งรายละเอียดถึงการประยุกต์ที่สร้างองค์ความรู้ใหม่และระบุแหล่ง ที่มา รวมถึงมาตรา 40 กำหนดโทษผู้นำไปเผยแพร่ในลักษณะหมิ่นสถาบัน กระทบศาสนาและขัดต่อศีลธรรม

เนื้อหาที่ไม่ชัดเจน ซ้ำซ้อนกฎหมายหลายฉบับซึ่งครอบคลุมอยู่แล้ว และขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่วัฒนธรรมเคลื่อนไหวตลอดเวลา เป็นเหตุผลให้คนทำงานศิลปะร่วมสมัย เห็นค้านกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพราะมีผลต่อการแสดงที่ดัดแปลงประยุกต์ใหม่

ตัวอย่างการแสดงขาวดำ ใช้สีแทนสัญลักษณ์ฝ่ายดีและร้าย ไม่สวมเครื่องทรง และดัดแปลงหัวโขนจนรูปลักษณ์ต่างจากขนบเดิม ของพิเชษฐ์ กลั่นชื่น ศิลปินศิลปาธร อาจมีความผิดตามร่างกฎหมายนี้เช่นกัน หากถูกตีความว่าบิดเบือน ทั้งที่เจตนาของศิลปิน เพียงต้องการสื่อสารความคิดที่มีต่อสังคม ผ่านท่วงท่าการต่อสู้โขนประยุกต์ในรูปแบบการเต้นร่วมสมัย

มี ความพยายามของประเทศต่างๆ รวมถึงไทย ที่จะสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมตามอนุสัญญาของยูเนสโก เพราะเห็นประโยชน์ว่าช่วยเปิดช่องทางให้มรดกวัฒนธรรมที่ขึ้นทะเบียนไปแล้ว ได้รับเงินสนับสนุนการดำเนินงาน เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยคุ้มครองไม่ให้สูญหาย การยุบสภามีผลให้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ถูกระงับการพิจารณาไปก่อน แต่หากได้สภากลับมาตามวาระ ร่าง พ.ร.บ.นี้จะถูกรื้อขึ้นมาใหม่

การท้วงติงของกลุ่มคนทำงานด้านศิลปะร่วมสมัย จะมีผลกับการผ่านร่าง พ.ร.บ.มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้บ้างหรือไม่ ยังเป็นเรื่องที่ต้องรอค่ะ แต่เบื้องต้นคนทำงานยังยืนยันว่า การดัดแปลงหรือตีความในมุมมองใหม่ มีผลกับการสร้างสรรค์งาน เช่นเรื่องราวของนางร้ายในลงกา ที่ทางภาควิชาศิลปการละคร อักษรจุฬา เตรียมเสนอช่วงต้นปีหน้าค่ะ

จากเดิมที่แทบไม่มีบทบาท หากนางเบญกาย มณโฑ และสุวรรณกันยุมา สตรีในรามเกียรติ์ตามแบบฉบับนี้ กลับช่วงชิงอำนาจในกรุงลงกา ระหว่างราตรีที่ทศกัณฑ์ต้องออกรบ เป็นบทที่ใช้เล่ห์เหลี่ยมหลังม่านของผู้หญิงเพื่อรักษาอำนาจ แทนเรื่องราวเดิมๆ ที่รับรู้กันมา เกิดจากการตีความวรรณกรรมในมุมมองใหม่ ที่คณะทำงานเห็นว่า นำไปสู่การศึกษา-สร้างความหลากหลายทางวัฒนธรรม การต่อยอดความคิดในลักษณะนี้ มีมานานและเปิดโอกาสสร้างสรรค์ มากกว่าจะถูกตีกรอบด้วยกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม

ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ยังไม่ผ่านการพิจารณาเพื่อประกาศใช้ มุมของคนในแวดวงกลับวิจารณ์ว่า บทกำหนดโทษของร่างกฎหมายนี้ ไม่ต่างกับมาตรการเซ็นเซอร์ฉบับใหม่ ที่จัดเก็บวัฒนธรรมขึ้นหิ้ง การไตร่ตรองร่าง พ.ร.บ.จึงยังเป็นงานหนักของกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อทบทวนไม่ให้อำนาจตามกฎหมายสร้างปัญหาในภายหลัง
สนับสนุนโดย
- กฟผ.โรงไฟฟ้าจะนะ www.chana.egat.co.th/home
- มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา www.skru.ac.th
- ธีระการช่าง หาดใหญ่ โทร 086-4910345 www.facebook.com/teerakarnchanghy