Main Menu

ข่าว:

ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่ www.SongkhlaMedia.com เรียนเชิญชาวสงขลาและทุกท่านร่วมขับเคลื่อนเว็บไซต์สาระที่มากกว่าข่าว ร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกันเพื่อสงขลาบ้านเรา

วางแผนการเงินเพื่อชีวิตหลังเกษียณ (บทความการเงิน)

เริ่มโดย สงขลามีเดีย, 14:50 น. วันที่ 24 12 56

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

สงขลามีเดีย

สมหมาย ยอดแก้ว
ผู้วิเคราะห์อาวุโส ส่วนคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน
ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

หากพูดคำว่าเกษียณ คนหนุ่มสาวหรือคนวัยทำงานในยุคปัจจุบันจะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว อีกนานกว่าจะมาถึง ชีวิตความเป็นอยู่ในทุก ๆ วันนี้ ก็ทำงานเพื่อให้มีรายได้มาเป็นค่าใช้จ่าย หรือจับจ่ายใช้สอยตามความต้องการ อยากได้สิ่งใดก็ขวนขวายหาซื้อมาจนได้ และเงินก็หมดไปกับสิ่งที่ต้องการนั้น

ไม่ได้มองไกลไปว่า หากวันเกษียณมาถึง จะใช้ชีวิตอย่างไรต่อไป เมื่อเกษียณอายุ นั่นหมายถึงเราไม่ได้ทำงานแล้ว เงินเดือนหรือรายได้ก็จะขาดหายไป แล้วเราจะรอให้วันนั้นมาถึงจึงค่อยเตรียมการ ซึ่งอาจสายเกินไป เพราะเตรียมการไม่ทัน ดังนั้น เพื่อความอยู่รอดและมีชีวิตที่ไม่ต้องประสบกับปัญหาทางการเงิน จึงควรเตรียมการรับมือกับวันเกษียณเสียแต่เนิ่นๆ นั่นคือ วางแผนการเงินเพื่อชีวิตหลังเกษียณ

เราจะวางแผนการเงิน เพื่อชีวิตหลังเกษียณได้อย่างไร

ข้อแรก กำหนดอายุที่เราต้องการเกษียณ โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะเกษียณเมื่ออายุเท่าไหร่ เพื่อที่จะได้รู้ว่า มีระยะเวลาหารายได้ก่อนเกษียณได้อีกเท่าไร สมมติว่า ขณะนี้เราอายุ 32 ปี ตั้งใจจะเกษียณตัวเองในตอนที่อายุ 60 ปี นั้นเท่ากับว่า หลังจากนี้เรามีเวลาหารายได้จากการทำงานอีก 28 ปี

ข้อที่สอง ประมาณช่วงระยะเวลาที่จะใช้ชีวิตหลังเกษียณ ให้คาดการณ์ไปว่า เราจะมีชีวิตยืนยาวไปจนถึงอายุเท่าไหร่ (โดยปกติ ผู้หญิงจะมีอายุยืนยาวกว่าผู้ชาย) สมมติว่า เราจะมีอายุยืนยาวไปจนถึง 75 ปี ช่วงระยะเวลาที่ใช้ชีวิตหลังเกษียณ คือ 15 ปี เราจะใช้ตัวเลขนี้ไปวางแผนในขั้นตอนต่อไป

ข้อที่สาม ประมาณการค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้หลังเกษียณ คำนวณหารายจ่ายที่จำเป็น ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ขอแนะนำให้ประมาณจากค่าใช้จ่าย ณ ปัจจุบัน เป็นรายเดือน เพื่อที่จะได้รู้ว่า เดือนหนึ่งๆ มีค่าใช้จ่ายเท่าไร สมมติว่า จะมีค่าใช้จ่ายเดือนละ 20,000 บาท (20,000 x 12 = 240,000 บาท ต่อปี) ระยะเวลาที่ใช้ชีวิตหลังเกษียณ เท่ากับ 15 ปี (จากข้อมูลในข้อ 2 ) ฉะนั้น ต้องมีเงินก่อนเกษียณเท่ากับ (240,000 x 15) เท่ากับ 3,600,000 บาท ไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพหลังเกษียณ (เป็นการคำนวณคร่าวๆ ไม่รวมปัจจัยเรื่องเงินเฟ้อ)

ข้อที่สี่ ประมาณการรายได้หลังเกษียณ (รายได้ที่ไม่ใช่จากการทำงาน) เงินออมที่สะสมมาได้ อย่างน้อยๆ ก็ต้องฝากธนาคารหรือซื้อพันธบัตรไว้ ซึ่งจะได้ดอกเบี้ยทุกปี สมมติว่า หลังวันเกษียณเรามีเงินออม 3,000,000 บาท และประมาณว่าอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี คำนวณดอกเบี้ยที่ได้รับต่อปี เท่ากับ (3,000,000 x 4 %) 120,000 บาท หักภาษีร้อยละ 15 จะคงเหลือรายได้จากดอกเบี้ย 102,000 บาท (ผู้สูงอายุ มีรายได้ระดับนี้สามารถขอภาษีคืนได้) และสำหรับใครที่นำเงินไปลงทุนอย่างอื่นหรือมีทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดรายได้ เช่น

บ้านเช่าต้องนำมารวมคำนวณด้วย สมมติว่า มีบ้านให้เช่าอีก 2 หลัง ให้เช่าเดือนละ 3,000 บาท ก็จะมีรายได้จากบ้านเช่าต่อปี (3,000 x 2 x 12) เท่ากับ 72,000 บาท หักภาษีโรงเรือนร้อยละ 12.5 คงเหลือเงินจากรายได้บ้านเช่าอีก 63,000 บาท ดังนั้น หากใครที่วางแผนการเงินดีๆ รายได้ในสองส่วนนี้ อาจเพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต้องจ่ายหลังเกษียณได้ ซึ่งก็จะทำให้ใช้ชีวิตโดยไม่ต้องพึ่งพาเงินออม และสามารถเหลือเงินไว้ให้ลูกหลานในยามที่เราจากไปได้ด้วย

ข้อที่ห้า วางแผนการออมในปัจจุบัน คำนวณหาเงินที่จะต้องออม เพื่อที่จะทราบว่า เราต้องเก็บอีกเท่าไหร่  ให้นำเงินออมส่วนที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน มาหักลบออกจากจำนวนเงินที่ต้องการใช้หลังเกษียณ สมมุติว่า ณ ขณะนี้อายุ 32 ปี มีเงินออมอยู่แล้ว 300,000 บาท ก็ต้องเก็บเงินออมอีกเท่ากับ (3,600,000 ? 300,000 ) 3,300,000 บาท ในขณะที่เรามีเวลาหารายได้จากการทำงานอีก 28 ปี ก่อนที่จะเกษียณ เมื่ออายุ 60 ปี นำมาหารต่อปี เท่ากับ ต้องหาเงินออมเพิ่มเฉลี่ยปีละประมาณ (3,300,000/28) 117,857 บาท หรือเดือนละประมาณ 9,820 บาท

ในการเก็บออมเงินโดยเฉลี่ยเดือนละ 9,820 บาท ก็ต้องวางแผนในการเก็บ จะเก็บแบบอัตราคงที่เท่า ๆ กันทุกปี ก็ต้องดูว่าเรามีศักยภาพสามารถทำได้หรือไม่  หากยังทำไม่ได้ จะมาเก็บแบบอัตราก้าวหน้า คือ ในช่วงนี้อาจเก็บน้อยกว่าตัวเลขเฉลี่ยก่อน ปีต่อไปเมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้นก็ต้องเพิ่มอัตราการเก็บขึ้นเรื่อย ๆ โดยพยายามไม่เพิ่มรายจ่ายตามมาด้วย สำหรับบางคนอาจจะไม่ยากเลย แต่สำหรับบางคนยังเป็นเรื่องยากอยู่

สำหรับใครที่คำนวณแล้ว รายได้จากเงินออมหลังเกษียณไม่พอกับค่าใช้จ่าย ไม่เป็นไร ทุกอย่างเริ่มต้นด้วยก้าวแรก สิ่งที่คุณต้องทำก็คือ วางแผนการออมมันซะตั้งแต่วันนี้เลย

จริงๆ แล้ว การวางแผนทางการเงินเพื่อชีวิตหลังเกษียณเป็นเรื่องที่ไม่ยาก แต่อาจดูไกลตัวสำหรับคนวัยหนุ่มสาว และวัยทำงาน แต่เมื่อถึงวันที่เราขาดรายได้ประจำแล้ว วันที่เราเกษียณแล้ว จะย้อนกลับมาเหมือนเริ่มต้นใหม่ก็คงทำไม่ได้ ได้แต่นั่งเสียใจอยู่ว่า เราลืมทำสิ่งที่ควรทำเมื่อครั้งยังทำได้ เพราะฉะนั้น วิธีรับมือกับเหตุการณ์ที่เรารู้ว่ามันจะเกิดขึ้นแน่ๆก็คือ วางแผนมันเสียตั้งแต่ตอนนี้ !!!


------------------------------------------------------------------------
- บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
- ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
สนับสนุนโดย
- กฟผ.โรงไฟฟ้าจะนะ www.chana.egat.co.th/home
- มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา www.skru.ac.th
- ธีระการช่าง หาดใหญ่ โทร 086-4910345 www.facebook.com/teerakarnchanghy

kaseygvzz