Main Menu

ข่าว:

ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่ www.SongkhlaMedia.com เรียนเชิญชาวสงขลาและทุกท่านร่วมขับเคลื่อนเว็บไซต์สาระที่มากกว่าข่าว ร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกันเพื่อสงขลาบ้านเรา

เส้นแบ่ง "ความรับผิดชอบ"....."อยู่ต่อไปเพื่อแก้ไขปัญหา" หรือ "ลาออก"

เริ่มโดย สงขลามีเดีย, 14:09 น. วันที่ 10 07 57

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

สงขลามีเดีย

บทความโดย รศ.ดร.ประเสริฐ ชิตพงศ์
อดีต ส.ว.สงขลา https://www.facebook.com/prasert.chittapong/photos_all

เส้นแบ่ง "ความรับผิดชอบ"....."อยู่ต่อไปเพื่อแก้ไขปัญหา" หรือ "ลาออก"

ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้ผู้ว่าการการรถไฟฯ คุณประภัสร์ จงสงวน ลาออกเพื่อแสดงความ "รับผิดชอบ" ต่อกรณีการเสียชีวิตของน้องแก้มบนรถไฟสายใต้ ซึ่งเกิดจากการกระทำของพนักงานการรถไฟฯ ที่เป็นข่าวใหญ่อยู่ในขณะนี้ แต่คุณประภัสร์ยืนยันว่า "ไม่ลาออก" เพราะต้อง "อยู่แก้ปัญหา"

ประเด็นเส้นแบ่งความ "รับผิดชอบ" ของผู้บริหาร เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ของงานที่รับผิดชอบ ระหว่างการ "ลาออก" กับการ "อยู่ต่อไปเพื่อแก้ไขปัญหา" ได้ถกเถียงและถามหากันมานานเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ใหญ่ๆขึ้นในประเทศเรา ทั้งวิกฤตระดับองค์กรและระดับชาติ ว่าทำไมผู้บริหารในระบบไทยไม่เคยมีใครแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก แต่จะขอทำหน้าที่ต่อไปเพื่อแก้ไขปัญหา

ก็คงต้องยกประเด็นเรื่องนี้ที่เรามักได้ยินกันมาจากต่างประเทศว่า ผู้นำประเทศหรือผู้นำองค์กรได้แสดงความรับผิดชอบต่อปัญหาวิกฤตที่เกิดขึ้นด้วยการลาออกอยู่บ่อยๆ กรณีล่าสุดเมื่อ 2-3 เดือนมานี้ ที่เกิดขึ้นกับผู้บริหารระดับประเทศ ก็คือการลาออกของนายกรัฐมนตรีเกาหลีใต้ เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีเรือข้ามฟากไปเกาะเซจูล่ม ทำให้ผู้โดยสารเสียชีวิตไปร้อยกว่าราย ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนระดับมัธยมที่จะไปทัศนศึกษายังเกาะเซจู เหตุผลของการลาออกก็เพื่อแสดงความรับผิดชอบที่ 1) รัฐบาลไม่ได้บริหารให้การบริการเรือข้ามฟากของเอกชนเป็นไปโดยปลอดภัย และ 2) รัฐบาลไม่ได้เข้าไปจัดการการกู้ภัยในเวลาที่ทันการ ทำให้เกิดการเสียชีวิตจำนวนมาก

ทั้ง 2 ประการนี้เป็นความบกพร่องของการบริหารจัดการ ที่นายกรัฐมนตรีซึ่งรับผิดชอบการบริหารในระดับประเทศ ได้แสดงสปิริต "ความรับผิดชอบ" ด้วยการ "ลาออก" ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่า ในประเทศที่มีการพัฒนาและมีความก้าวหน้าในด้านการเมืองการปกครองและการบริหารจัดการ หากวิกฤตการณ์นั้นเกิดจากความบกพร่องในการบริหาร ผู้รับผิดชอบก็จะแสดงความรับผิดชอบด้วยการ"ลาออก"

แล้วกรณีอย่างไรล่ะที่ผู้บริหารควรแสดงความรับผิดชอบด้วยการ "อยู่ต่อไปเพื่อแก้ไขปัญหา" ก็คงต้องตอบอย่างตรงไปตรงมาแบบไม่ต้องยกตัวอย่างว่า เป็นกรณีวิกฤตที่เกิดจากเหตุสุดวิสัย เช่นเกิดภัยธรรมชาติที่ยากจะคาดการณ์ หรือคาดการณ์ได้และได้เตรียมการป้องกันหรือแก้ปัญหาไว้แล้ว แต่ความรุนแรงยังเกินวิสัยที่จะควบคุมจัดการได้อย่างทันท่วงทีหรืออย่างมีประสิทธิภาพ เช่นแผ่นดินไหว อุทกภัย วาตะภัย ซึนามิ ฯลฯ อย่างนี้อยู่ในข่ายที่ผู้บริหารแสดงความรับผิดชอบด้วยการ "อยู่ต่อไปเพื่อแก้ไขปัญหา"

กรณีข่มขืนฆ่าบนรถไฟในรายน้องแก้ม ซึ่งผู้กระทำผิดเป็นพนักงานของการรถไฟที่อยู่ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ มีความชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นความบกพร่องของระบบบริหารจัดการ ตั้งแต่การรับพนักงาน การควบคุมระบบการให้บริการ การควบคุมพฤติกรรมของพนักงาน ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นความรับผิดชอบของผู้บริหาร ที่จะต้องจัดระบบและควบคุมดูแลกำกับให้เป็นไปตามระบบที่กำหนดอย่างมีประสิทธิภาพ จะไปโบ้ยหรือโยนความผิดให้ใครคนใดคนหนึ่งคงไม่ได้

เพราะไม่ใช่เป็นเหตุสุดวิสัย แต่เป็นเรื่องของความหย่อนยานและการขาดประสิทธิภาพของผู้บริหารในการดูแลกำกับให้เป็นไปตามระบบ ถือเป็นความบกพร่องในการทำหน้าที่ ในระดับที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการรถไฟฯ และสังคมไทยอย่างใหญ่หลวง เสียหายอย่างไรคงไม่ต้องสาธยาย วิญญูชนทั้งหลายย่อมเห็นและตระหนักเป็นที่ประจักษ์อยู่แล้ว

"ความรับผิดชอบ" ของคุณประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการการรถไฟฯ กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับน้องแก้มและครอบครัว และความเสียหายที่เกิดขึ้นกับการรถไฟฯและสังคมไทยในครั้งนี้ ไม่เข้าข่ายเหตุสุดวิสัยใดๆทั้งสิ้น ที่คุณประภัสร์จะนำมาเป็นข้ออ้างว่า "อยู่ต่อไปเพื่อแก้ไขปัญหา" ความบกพร่องผิดพลาดของคุณในครั้งนี้มันเลยเส้นแบ่งที่จะตะแบงอยู่ต่อไปแล้วครับ ความรับผิดชอบ ของคุณมันกระโจนเข้าไปอยู่ในโซนต้อง "ลาออก" เพื่อบอกให้สังคมและชาวโลกรู้ว่า ผู้บริหารองค์กรสาธารณะในประเทศไทยก็ไม่ได้อยู่ไกลจากสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม ดังเช่นที่เห็นและเป็นไปในระดับสากลแต่อย่างใด

อันที่จริงถ้าสำนึกได้อย่างอารยะ คุณประภัสร์ควรลาออกเสียตั้งแต่วันที่รู้ว่า ข้อแถลงของตนที่ว่าผู้กระทำผิดเป็นพนักงานของบริษัทรับช่วงเหมาหรือ out source นั้น มันไม่ตรงกับข้อเท็จจริงแล้วครับ แล้วคุณจะได้รับเสียงปรบมือมากมาย ดีกว่ามานั่งให้ผู้คนเขาด่าไล่ ดังที่เห็นและเป็นไปในวันนี้

หรือว่า...ขอสงสัยตามประสาคนขี้สงสัยนะครับว่า...ท่ามกลางความอ่อนแอของการรถไฟฯนั้น มันมีนัยของผลประโยชน์ ทั้งทางตรงทางอ้อมและทางบวกทางลบทับซ้อนกันอยู่มากมาย จนกลายเป็นม่านบังตา ที่จะส่ายหาความถูกต้อง เป็นธรรม และสัจจธรรมที่ดีในชีวิตอย่างไรสายตาก็ทอดไปไม่ถึง...
สนับสนุนโดย
- กฟผ.โรงไฟฟ้าจะนะ www.chana.egat.co.th/home
- มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา www.skru.ac.th
- ธีระการช่าง หาดใหญ่ โทร 086-4910345 www.facebook.com/teerakarnchanghy