Main Menu

ข่าว:

ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่ www.SongkhlaMedia.com เรียนเชิญชาวสงขลาและทุกท่านร่วมขับเคลื่อนเว็บไซต์สาระที่มากกว่าข่าว ร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกันเพื่อสงขลาบ้านเรา

สคร.12 รุกให้ความรู้ประชุมเชิงปฏบัติการโรคติดต่ออุบัติใหม่ "อีโบลา ภัยร้าย 2557"

เริ่มโดย สงขลามีเดีย, 16:38 น. วันที่ 22 08 57

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

สงขลามีเดีย

สคร. 12 สงขลา จัดประชุมเชิงปฏิบัติการโรคติดต่ออุบัติใหม่ "อีโบลา ภัยร้าย 2557"

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา (สคร. 12 สงขลา)  จัดประชุมเชิงปฏิบัติการโรคติดต่ออุบัติใหม่    อีโบลา ภัยร้าย 2557 เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2557 ณ โรงแรมหรรษา เจบี อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อเตรียมรับมือเฝ้าระวังควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา หลังองค์การอนามัยโลกประกาศให้ การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสอีโบลาเป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ

กิจกรรมประกอบด้วยการบรรยายพิเศษ "พยัคฆ์ร้าย อีโบลา" โดย ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข การตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการไวรัส อีโบลา โดยวิทยากรจากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สงขลา การดำเนินการเฝ้าระวังสอบสวน  และควบคุมการแพร่กระจายของไวรัสอีโบลา โดยวิทยากรจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลประจำจังหวัด โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จากพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่างให้ความสนใจเข้าร่วมประชุมกว่า 200 คน

ดร.นายแพทย์สุวิช  ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า  โรคติดเชื้อไวรัส อีโบลา เป็นโรคติดเชื้อไวรัสชนิดเฉียบพลันรุนแรง  เกิดจากเชื้อไวรัสอีโบลา (Ebola virus) ติดต่อจากสัตว์  สู่คนโดยการสัมผัสสัตว์ในขณะชำแหละสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ตาย หรือรับประทานเลือด นม หรือเนื้อสัตว์ทั้งดิบและสุก และสามารถติดต่อจากคนสู่คนโดยการสัมผัสกับเลือดที่ติดเชื้อ สารคัดหลั่ง เช่น เลือด น้ำเหลือง น้ำมูก น้ำลาย ของผู้ป่วยอีโบลาที่มีอาการเท่านั้น

หรือการสัมผัสเข็มและหลอดฉีดยาที่ปนเปื้อนเชื้อและยังพบการแพร่กระจายเชื้ออีโบลาในพิธีศพ เนื่องจากญาติผู้เสียชีวิตอาจมีการสัมผัสโดยตรงกับร่างกายของผู้เสียชีวิต ไม่ติดทางการหายใจ กินอาหาร น้ำดื่มน้ำใช้ โรคนี้มีระยะฟังตัว 2-21 วัน ไม่มีวัคซีนป้องกัน ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ อัตราเสียชีวิต    ร้อยละ 60-90  การป้องกันที่สำคัญคือ ป้องกันการสัมผัสโดยตรงกับเลือด หรือสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย  และการสัมผัสโดยตรงกับเลือดหรือเครื่องในของสัตว์ที่ติดเชื้อ อย่างไรก็ตามการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสอีโบลายังมาไม่ถึงประเทศไทย  และปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินมาตรการป้องกันอย่างเข้มแข็ง

ด้านการเฝ้าระวังของด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศในสังกัด สคร. 12 สงขลา ได้ดำเนินมาตรการป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา โดยให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังป้องกันและควบคุมการติดเชื้อกับผู้ป่วยทุกราย ตลอดเวลา  อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะให้เฝ้าระวังผู้ป่วยในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติหรือคนไทยกรณีที่เดินทางมาจากประเทศที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อ ในช่วง 21 วัน ก่อนถึงประเทศไทย หากพบอาการสงสัยป่วย เช่น มีไข้สูงทันทีทันใด ปวดกล้ามเนื้อ  และเจ็บคอ มีผื่นนูนแดงตามตัว   จะประสานแพทย์ที่เกี่ยวข้องให้ดูแลรักษา และรายงานผู้ป่วยในระบบฐานข้อมูลด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและรายงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

กรณีชาวไทยที่จะเดินทางไปประเทศสาธารณรัฐกินี สาธารณรัฐไลบีเรีย  สาธารณรัซเซียร์ราลีโอนและสาธารณรัฐไนจีเรีย ยังไม่มีข้อห้ามการเดินทาง ทั้งนี้ขอให้ผู้เดินทางหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารคัดหลั่ง เช่น เลือดจากผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อไวรัสอีโบลา ศพ หรือสิ่งของเครื่องใช้ของผู้ป่วยที่อาจปนเปื้อนกับสารคัดหลั่งของผู้ป่วยหรือศพ หลังเดินทางกลับมาในประเทศไทย สังเกตอาการผิดปกติ เช่นมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดท้อง อาเจียน ถ่ายเหลว เลือดออก  หรืออื่น ๆ ภายใน 21 วัน นับจากเดินทางกลับ    หากไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน ควรรีบไปพบแพทย์ พร้อมทั้งแจ้งประวัติการเดินทาง หรือหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

...
ข่าวโดย : พรรณภัทร ประทุมศรี
              นักวิชาการเผยแพร่
              สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา
สนับสนุนโดย
- กฟผ.โรงไฟฟ้าจะนะ www.chana.egat.co.th/home
- มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา www.skru.ac.th
- ธีระการช่าง หาดใหญ่ โทร 086-4910345 www.facebook.com/teerakarnchanghy