Main Menu

ข่าว:

ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่ www.SongkhlaMedia.com เรียนเชิญชาวสงขลาและทุกท่านร่วมขับเคลื่อนเว็บไซต์สาระที่มากกว่าข่าว ร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกันเพื่อสงขลาบ้านเรา

"แก่งจันทร์โมเดล" ทางรอดของ ร.ร.ขนาดเล็ก ?

เริ่มโดย ฅนสองเล, 15:47 น. วันที่ 21 09 55

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

ฅนสองเล

โดย ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กยังคงเป็นประเด็นที่แวดวงการศึกษาไทยหาทางออกว่า จะทำอย่างไรให้โรงเรียนที่มีนักเรียนน้อยกว่า 120 คน สามารถดำเนินงานต่อไปได้ โดยปี 2554 มีโรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มขึ้นเป็น 14,638 แห่ง จากปี 2553 ที่มีอยู่ 14,056 แห่ง โดยมีสาเหตุจากอัตราการเกิดของประชากรค่อนข้างคงที่ และคนชนบทเคลื่อนย้ายไปอยู่ในเมือง

จากปัญหาดังกล่าว "แก่งจันทร์โมเดล" จึงเกิดขึ้น เพื่อเป็นแนวทางการแก้ปัญหาของโรงเรียนขนาดเล็กใน ต.หาดคัมภีร์ อ.ปากชม จ.เลย ด้วยความหวังว่าอาจเป็นทางเลือก-ทางรอดสำหรับโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศ

ควบรวมเพื่อคุณภาพ

แก่งจันทร์โมเดลเป็นเครือข่ายของโรงเรียน ร.ร.บ้านปากมั่งห้วยทับช้าง, ร.ร.บ้านนาโม้, ร.ร.บ้านคกเว้า และ ร.ร.บ้านหาดคัมภีร์ เดิมโรงเรียนเหล่านี้มีปัญหาครูไม่ครบชั้น และมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เห็นได้จากคะแนนโอเน็ตโดยภาพรวมมีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ

"สุเทพ บุญเติม" ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเลย เขต 1 บอกว่า เมื่อ 4 โรงเรียนรวมตัวกัน ทำให้มีครูทั้งหมด 16 คน และนักเรียน 247 คน เห็นได้ว่าอัตราส่วนครูผู้สอนต่อนักเรียนเพิ่มขึ้นจากเดิม โดยแต่ละโรงเรียนจะมีครูสอนเพียง 4 คน ตรงนี้เป็นผลดีต่อการดูแลนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่การบริหารงานดำเนินการร่วมกันทุกเรื่อง ทั้งหลักสูตรการสอน กิจกรรมพัฒนานักเรียน เป็นต้น

ทั้งนี้ การเรียนการสอนจะจัดแบบรวมเรียนตั้งแต่อนุบาล 1 ถึงชั้น ป.6 แบ่งตามความโดดเด่นทางวิชาการของโรงเรียน โดย ร.ร.บ้านนาโม้สอนชั้นอนุบาล 1 กับ ป.1, ร.ร.บ้านปากมั่งห้วยทับช้างสอนชั้นอนุบาล 2 กับ ป.2, ร.ร.บ้านคกเว้าสอนชั้น ป.3-4 และ ร.ร.บ้านหาดคัมภีร์ สอน ป.5-6 ซึ่งแต่ละโรงเรียนอยู่ห่างกัน 3-5 กม. จึงมีการจัดรถยนต์รับส่งนักเรียนทั้งขาไปและกลับ ในส่วนของค่าน้ำมันรถและค่าซ่อมบำรุงให้ทางโรงเรียนเบิกจ่ายกับ อบต.หาดคัมภีร์

"การรวมตัวกันทำให้สามารถจัดสรรครูตามชั้นเรียนได้เพียงพอ รวมถึงมีการบูรณาการการใช้สถานที่และสื่อวัสดุอุปกรณ์ และอนาคตอาจตั้งกองทุนพัฒนาการศึกษาชาติ โดยระดมทุนจากชุมชนและผู้ปกครองมาช่วยเหลือโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศ"

พบคะแนนโอเน็ตพุ่ง

"จิตราวดี พานิช" อาจารย์ชั้น ป.6 ร.ร.บ้านห้วยคัมภีร์ เล่าว่า เมื่อนักเรียนจากต่างที่มาเรียนร่วมกันก็เกิดปัญหาด้านความสัมพันธ์บ้าง อย่างไรก็ดี จะมีเทคนิคการสอนให้เด็กอยู่คละกลุ่มและทำงานด้วยกัน เพื่อให้สามารถเรียนร่วมกันได้

"เรามีกระบวนการรู้จักเด็กด้วยการสอบถามจากผู้ปกครองและอาจารย์โรงเรียนเดิมมาจัดทำเป็นข้อมูลเบื้องต้นว่าเด็กเป็นอย่างไร ขณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่านักเรียนมีพื้นฐานความรู้แตกต่างกัน

ดังนั้น แผนการสอนจะมีหลายรูปแบบ เด็กที่เคยเรียนหรือเข้าใจเนื้อหาแล้วจะมีแบบฝึกหัดให้เขาตลอดเวลาเพื่อจะได้ไม่เบื่อ ส่วนเด็กที่มีพัฒนาการช้าก็จะสอนเสริมให้"

นอกจากนี้ หลังจากรวมเป็นเครือข่ายแก่งจันทร์พบว่า คะแนนโอเน็ตโดยภาพรวมของปีการศึกษา 2554 มีค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อย่างวิชาคณิตศาสตร์ได้ 53.92 คะแนนเพิ่มจากปี 2553 ที่ได้ 26.51 คะแนน หรือวิชาภาษาอังกฤษได้ 41.47 คะแนน เพิ่มจากปี 2553 ที่ได้ 13.91 คะแนน

ชี้ไม่ใช่สูตรสำเร็จ

ถึงแม้ว่าแก่งจันทร์โมเดลจะได้รับการยอมรับจากโรงเรียนขนาดเล็กกว่า 6 พันแห่งที่ประสงค์เจริญรอยตาม แต่บางโรงเรียนก็ไม่สามารถทำได้ด้วยข้อติดขัดบางประการ ซึ่ง "ดร.พิษณุ ตุลสุข" รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า ขณะนี้มีโรงเรียนขนาดเล็กจะรวมกันเป็น 2 พันศูนย์ โดยส่วนกลางต้องสนับสนุนงบประมาณด้านการเดินทางหรือพาหนะ และการประกันชีวิตเด็ก

อย่างไรก็ดี ไม่ได้ละความพยายามในการคิดค้นโมเดลใหม่ ๆ ขึ้น อย่าง "ลาดค่างโมเดล" ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเลย เขต 3 ที่ต่อยอดจากแก่งจันทร์โมเดล โดยให้ครูเชี่ยวชาญเฉพาะวิชามาสอน ทำให้เด็กมีทักษะและการเรียนรู้ได้ดีกว่าจากเดิมที่ครูคนเดียวสอนหลายวิชา ซึ่งธรรมชาติของแต่ละวิชาแตกต่างกัน

"เราพยายามบอกว่า แก่งจันทร์โมเดลไม่ใช่สูตรสำเร็จการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก เพราะแต่ละแห่งมีความแตกต่างด้านสิ่งแวดล้อม ภูมิศาสตร์ บริบททางสังคม หรือแม้แต่ผู้นำชุมชน" ดร.พิษณุกล่าว
สองเลรีวิว กดติดตามได้ที่
www.facebook.com/songlayreview
www.youtube.com/@Songlayreview
www.tiktok.com/@songlayreview22
รีวิวบ้านบ้าน ข่าวสารเข้มข้น สองเลรีวิว TLP : 0897384215