Main Menu

ข่าว:

ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่ www.SongkhlaMedia.com เรียนเชิญชาวสงขลาและทุกท่านร่วมขับเคลื่อนเว็บไซต์สาระที่มากกว่าข่าว ร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกันเพื่อสงขลาบ้านเรา

ประเพณีวันสารทเดือนสิบหรือเทศกาลชิงเปรตของเด็กๆ บ้านเรา

เริ่มโดย ฅนสองเล, 14:20 น. วันที่ 29 09 55

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

ฅนสองเล

เด็กสมัยนี้อาจไม่ตื่นเต้นกับเทศกาลชิงเปรต แตกต่างจากชีวิตในวัยเยาว์ของคนที่มีอายุย้อนเวลากลับไปประมาณ 20 กว่าปีก่อน เมื่อใกล้ถึงเทศกาลเดือนสิบเป็นช่วงเวลาแห่งความตื่นเต้นมากมาย ทำไมต้องตื่นเต้นเพราะเวลาวันสารทเดือนสิบเราก็จะมีขนมมกินหลายอย่างเลย

ก่อนถึงวันเดือนสิบ พี่ชายผมมีหน้าที่ไปหายอดพ้อ หรือกระพ้อ หากล้วยน้ำว้าหรือถ้าได้กล้วยนางยาจะดีมากเลยเอามาตระเตรียมไว้กะว่าบ่มไว้ให้สุกในวันเดือนสิบพอดีเพื่อที่จะได้ใช้ทำต้ม ทำข้าวต้มมัด ในวันเดือนสิบ ในแต่ละปีวันชิงเปรต จะมี 2 ครั้งคือ ครั้งแรก วันแรม 1 ค่ำ เดือนสิบ เรียกว่าวันรับเปรต ครั้งที่ 2 วันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบ เรียกว่าวันส่งเปรต นอกจากการทำต้ม ทำข้าวต้มแล้ว ขนมประจำเดือนสิบก็ต้องมีแน่นอนคือ ขนมเจาะหู บางปีแม่ก็ทำขนมค่อม ขนมเทียนเสริมมาด้วย ส่วนขนมาา ขนมพอง และผลหมากรากไม้อื่นๆ ก็จะจัดเตรียมหาซื้อมาจากตลาด

การทำขนมเดือนสิบของที่บ้านผมและทุกๆ บ้าน ไม่ได้ทำเพียงแค่พอรับประทานในบ้านเท่านั้น ต้องทำเผื่อไปทำบุญที่วัด ถวายพระ ตั้งร้านเปรต และแจกเพื่อนบ้านโดยเฉพาะบ้านที่เป็นญาติผู้ใหญ่ เอาไปให้เขา เขาให้กลับมา ขนมเจาะหูในหม้อเขียวที่บ้านจึงไม่ได้มีแค่ฝีมือแม่เท่านั้นแต่ยังมีของป้าเลื่อน ของน้าลิ่ม ของพี่สาว อีกสารพัดคนเเกินกว่าจะบรรยายได้หมด เช่นเดียวกับขนมต้ม ข้าวต้มมัดทั้งหลายมีทั้งแบบเหนียวขาว เหนียวดำ ใส่ถั่ว เรียกว่าเดือนสิบแต่ละปีได้กินขนมของคนทั้งควนเลยทีเดียว

ผมเป็นคนไม่เจนจัดเรื่องทำของกิน เรียกว่าช่วยได้อย่างดีก็แค่สับหางต้ม เขี่ยหนมเจาะหู หาไม้ฟืน อยู่เป็นลูกมือแม่บ้างหรือบางทีก็หนีเที่ยวกลับทีเดียวตอนได้กินเลย แต่ยังดีที่มีพี่หลวง พี่บ่าวอีกคนคอยเป็นผู้ช่วยหลักและทำเป็นทุกอย่างไม่ว่าจะแทงต้ม หลบเหนียว ลายแป้ง ปั้นหนมเจาะหู แหลงเรื่องหนมเจาะหู เชื่อว่าอาจไม่ใช่เมนูโปรดของใครๆ แต่ถ้าจำกันได้เชื่อว่าหลายคนจะคิดเหมือนผม หนมเจาะหูยิ่งใกล้หมดยิ่งกินหรอย แม่ทำไว้หม้อเขียวใบเติบกินกันเกือบเดือน แรกๆ ไม่ค่อยมีใครกินแต่พอใกล้หมดชิงกันพักเดียว

เมื่อถึงวันไปวัดทุกคนจะที่บ้านจะตื่นกันแต่หัวรุ่ง ทำกับข้าวเมนูเด็ดๆ อาทิ แกงคั่วกุ้งกับหน่อไม้ แกงจืด ขนมหวานพวกวุ้น บัวลอย ผลไม้ดีๆ องุ่น ลองกอง แอปเปิ้ลเตรียมไว้เพื่อพาไปวัดโดยเฉพาะ วัดก็อยู่ไม่ไกลบ้านมาก วัดคงคาเลี้ยวหรือสำนักสงฆ์คงคาเลี้ยว ที่นี่เดินไปก็ถึงแต่ถ้ามาวัดถ้ำเขาพระ ต้องมากับรถเครื่องหรือพลอยรถยนต์ญาติๆ มา ที่วัดจะมีพิธีสงฆ์ตามประเพณี ถวายข้าว ไหว้พระขอพร แต่เด็กๆ แบบเราใจจดจ่ออยู่ที่ร้านเปรต จ้องแลของหรอยๆ ขนม ผลไม้ที่ไม่ค่อยได้กิน ส่วนพวกเมนูพื้นๆ หนมต้ม หนมรา ข้าวพองจะถูกลืมไปเลย

แต่พอเอาเข้าจริงของบนร้านเปรตที่เป็นของดีๆ จะได้คนใหญ่ที่มาแย่งเด็กหรือได้เด็กประเภทถ้าแหลงบ้านๆ คืออยู่เสือกๆ หาญๆ บางคนชิงไปตั้งแต่พระยังไม่ทันตัดสายสิญน์ด้วยซ้ำไป หลังจากวันเดือนสิบไปแล้ว หนมต้มที่เหลือจะโดนแปรสภาพเป็นต้มปิ้ง ย่าง ทอด เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งเมนูอร่อยที่เคี้ยวกันให้แข็ดกรามไปเลย บทสรุปของงานเดือนสิบในมุมมองส่วนตัวคิดว่านือคือวันกตัญญู เป็นวันที่เราได้ระลึกนึกถึงบรรพบุรุษ ไดทำบุญอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้ท่าน เหนือสิ่งอื่นใดยังได้พบปะญาติพี่น้องที่กลับมารวมกันนานทีปีหน พอเจอหน้ากันแบบนี้ก็แถมงานบุญนิดๆ เทศกาลไหนๆ พี่ไทยก็ตั้งวง

ว่าไปแล้วงานเดือนสิบน่าจะเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ของคนใต้บ้านเราขนานแท้นะครับ แต่นอกเหนือจากที่นครแล้วก็ไม่เห็นมีหน่วยงานภาครัฐ ภาคท้องถิ่น ภาคการท่องเที่ยวไหนในสงขลาส่งเสริมประเพณีบรรพบุรุษตัวเองอย่างจริงจังเลย ผิดกับงานฝรั่ง งานจีน หรืองานผีเข้าฝัน ไม่ว่าจะเป็น ปีใหม่ กินเจ ตรุษจีน แฟชั่น ใส่หมวก ใส่วิก ลองเปลี่ยนมาเป็นประเพณีสารทเดือนสิบให้ยิ่งใหญ่บ้างได้ไหมครับเจ้านาย เพราะงานนี้ไม่ต้องมีใครเข้าฝันหากท่านทำจริงจังผลบุญถึงบรรพบุรุษแน่นอน เรียนชี้แนะด้วยความเคารพ

อ่านเรื่องเล่าแบบลูกทุ่งๆ บ้านกันแล้ว มาดูที่เป็นเนือหาสาระของประเพณวันสารทเดือนสิบจาก www.school.net.th กันบ้างครับ

เดือนสิบในอดีตมีการทำเสาเปรตข้างบนจะมีของกินหรอย รวมทั้งเงินรางวัลสำหรับคนที่ปีนขึ้นไปเก็บได้ด้วย

ประเพณีวันสารทเดือนสิบ การทำบุญวันสารทเดือนสิบ หรือภาษาท้องถิ่นเรียกว่า วันชิงเปรตนั้นในเดือนสิบ(กันยายน) มีการทำบุญที่วัด 2 ครั้ง

ครั้งแรก วันแรม 1 ค่ำ เดือนสิบเรียกว่า วันรับเปรต (ปีนี้ตรงกับวันที่ 1 ตุลาคม 255 ) ครั้งที่สองวันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบ เรียกว่าวันส่งเปรต (ปีนี้ตรงกับวันที่ 15 ตุลาคม 255)

การทำบุญทั้งสองครั้งเป็นการทำบุญที่แสดงถึงความกตัญญูต่อบุพการีผู้ล่วงลับไปแล้วโดยอุทิศส่วนกุศลไปให้วิญญาณของบรรพบุรุษที่ตกอยู่ในเปรตภูมิเป็นคติของศาสนาพราหมณ์ที่ผสมใน

ประเพณีของพุทธศาสนา พุทธศาสนิกชนนิยมไปทำบุญ ณ วัดที่เป็นภูมิลำเนาของตนเพื่อร่วมพิธีตั้งเปรตและชิงเปรตอาจสับเปลี่ยนกันไปทำบุญ ณ ภูมิลำเนาของฝ่ายบิดาครั้งหนึ่งฝ่ายมารดาครั้ง

หนึ่งจึงทำให้ผู้ที่ไปประกอบ อาชีพจากถิ่นห่างไกลจากบ้านเกิดได้มีโอกาสได้กลับมาพบปะสังสรรค์และรู้จักวงศาคณาญาติเพิ่มขึ้น

ขนมเดือนสิบ จัดขึ้นโดยเฉพาะใช้ในโอกาสทำบุญเดือนสิบ ที่จำเป็นมี 5 อย่าง คือ
1.ขนมลา เป็นสัญลักษณ์แทนเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม
2.ขนมพอง เป็นสัญลักษณ์แทนแพ สำหรับญาติผู้ล่วงลับใช้เดินทาง
3.ขนมกง ( ขนมไข่ปลา ) เป็นสัญลักษณ์แทนเครื่องประดับ
4.ขนมเจาะรูหรือขนมเจาะหูหรือขนมเบซำ เป็นสัญลักษณ์แทนเงินสำหรับใช้จ่าย
5. ขนมบ้า เป็นสัญลักษณ์แทนสะบ้า สำหรับใช้เล่นสะบ้าในวันสงกรานต์

ในวันแรม 1 ค่ำเดือนสิบ ชาวบ้านจัดภัตตาหารไปทำบุญที่วัดชาวบ้านเรียกวันนี้ว่าวันชิเปรตเป็นวันที่ยมบาลเปิดนรกปล่อยเปรตชนมาเยี่ยมลูกหลาน ลูกหลานก็ทำบุญต้อนรับครั้งหนึ่งใน วันแรม

15 ค่ำเดือนสิบเรียกว่าวันส่งเปรตเป็นวันที่เปรตชนต้องกลับยมโลกลูกหลานก็จะทำบุญเลี้ยงส่งอีกครั้งหนึ่ง

เดือนสิบปีนี้อย่างลืมหลบเรินหลบรังกลับบ้านเกิดไปไหว้บรรพบุรุษและพบปะญาติพี่น้องกันนะครับ
สองเลรีวิว กดติดตามได้ที่
www.facebook.com/songlayreview
www.youtube.com/@Songlayreview
www.tiktok.com/@songlayreview22
รีวิวบ้านบ้าน ข่าวสารเข้มข้น สองเลรีวิว TLP : 0897384215