Main Menu

ข่าว:

ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่ www.SongkhlaMedia.com เรียนเชิญชาวสงขลาและทุกท่านร่วมขับเคลื่อนเว็บไซต์สาระที่มากกว่าข่าว ร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกันเพื่อสงขลาบ้านเรา

เปิดสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญ หลังประชาชนลงประชามติผ่านฉลุย

เริ่มโดย สงขลามีเดีย, 15:47 น. วันที่ 10 08 59

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

สงขลามีเดีย

เปิดสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญ
หลังประชาชนลงประชามติผ่านฉลุย

เป็นที่แน่นอนแล้วว่ารัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติผ่านความเห็นชอบของประชาชนคนไทยทั้งประเทศอย่างเป็นทางการแล้วด้วยสถิติการเห็นชอบมากกว่า 60% แม้การออกมาใช้เสียงของประชาชนไม่มากตามที่ กกต.ตั้งเป้าไว้แต่ก็ถือว่าทุกอย่างผ่านฉลุย หลังจากนี้เส้นทางสู่การเลือกตั้ง การได้มาซึ่ง ส.ส. ส.ว.จะเป็นเช่นไรต้องติดตามกัน

ขั้นตอนจากนี้ หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประกาศรับรองผลการออกเสียงประชามติอย่างเป็นทางการแล้ว ภายใน 30 วัน คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ.จะแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำถามเพิ่มเติม เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาภายใน 30 วัน หากศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วไม่สอดคล้อง จะส่งคืนให้ กรธ.ภายใน 15 วัน เพื่อปรับแก้ไขให้สอดคล้อง จากนั้นจะนำเสนอนายกรัฐมนตรี นำขึ้นทูลเกล้าทูลฯ ทรงลงพระปรมาภิไธภายใน 30 วัน เพื่อประกาศใช้

จากนั้น กรธ.จะร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับ ให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน หรือ 8 เดือน ส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาภายใน 60 วัน และส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยทั้ง 10 ฉบับ จากนั้นนำขึ้นทูลเกล้าฯ คาดการณ์ว่าการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะเกิดขึ้นภายใน 150 วัน นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. กล่าวว่า จากกรอบเวลาในร่างรัฐธรรมนูญ คาดว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นประมาณเดือนมีนาคม 2561 ส่วนการเริ่มสรรหาสมาชิกวุฒิสภา 250 คน จะดำเนินการภายใน 15 วัน ก่อนเลือกตั้ง

คำถามที่หลายคนสนใจและสอบถามกันเยอะว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ปราบโกงได้จริงหรือ www.prachamati.org ได้สรุปสาระสำคัญของการปราบโกงในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไว้อย่างน่าสนใจคือ หนึ่ง : คัดกรองคุณสมบัติก่อนเข้าสู่เส้นทางการเมือง ส.ส. ต้องไม่เคยมีความผิดฐานทุจริต ผิดจริยธรรม และไม่เป็นเจ้าของสื่อ (มาตรา 98) และ ครม. ต้องมีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์และไม่เป็นเจ้าของสื่อ (มาตรา 160)  สอง: กำจัดนักการเมืองที่เชื่อได้ว่าทุจริตการเลือกตั้งออกจากสนามแข่ง ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง กกต. มีอำนาจ "แจกใบแดงชั่วคราว" [มาตรา 224 (4) และ 225]ในกรณีที่ กกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า การเลือกตั้งหรือการเลือกนั้นมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หลังประกาศผลการเลือกตั้ง ถ้านักการเมืองโกงให้เป็นหน้าที่ของศาลฏีกา [มาตรา 222]


สาม: การยื่นเรื่องถอดถอนนักการเมืองโดยสภา ถอดถอนนักการเมืองที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม [มาตรา 82] ถ้ามีนักการเมืองคนใดผิดไปจากที่รัฐธรรมนูญกำหนด ก็ให้ ส.ส. หรือ ส.ว. ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา ร้องต่อประธานสภาที่ตนเป็นสมาชิกเพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย ถอดถอนนักการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายเงินงบประมาณ [มาตรา 144] หาก ส.ส. หรือ ส.ว. จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ก็ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นักการเมืองคนดังกล่าวพ้นจากสมาชิกภาพและให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และหากพบว่าการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นโดยคณะรัฐมนตรีมีส่วนรู้เห็นหรือรับรู้แต่มิได้ทำการยับยั้ง ทั้ง ส.ส. หรือ ส.ว. ก็สามารถร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยเพื่อขอให้คณะรัฐมนตรีพ้นไปทั้งคณะก็ได้อีกด้วย

การลงมติไม่ไว้วางใจจากสภาผู้แทนฯ [มาตรา 151] การลงมติไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหาร เป็นการใช้อำนาจตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหารตามปกติของระบบสภา ส.ส. จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะก็ได้ สี่: การยื่นเรื่องถอดถอนนักการเมืองโดยองค์กรอิสระ กกต. มีอำนาจยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อถอดถอนนักการเมืองได้ [มาตรา 82] ในกรณีที่กกต. เห็นว่ามีนักการเมืองคนใดขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ก็สามารถที่จะร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยให้บุคคลดังกล่าวต้องพ้นไปจากตำแหน่งทางการเมืองได้ ทั้งนี้ ฐานความผิดก็ยังคงมีเท่าเดิม ได้แก่ ความผิดฐานกระทำการอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ หรือไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ หรือแม้แต่การฝักใฝ่หรือยอมตนอยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมือง (เฉพาะ ส.ว.) เป็นต้น

ป.ป.ช. ยื่นเรื่องถอดถอนนักการเมืองที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม [มาตรา 235(1)] ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระมีหน้าที่กำหนดมาตรฐานจริยธรรมขึ้นมาเพื่อบังคับใช้กับองค์กรอิสระและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งมาตรฐานจริยธรรมดังกล่าวจะส่งผลต่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามด้วยการถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่งและถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมือง โดยช่องทางดังกล่าว เป็นอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ที่จะเป็นผู้ทำการสอบสวน ถ้าหากเสียงข้างมากของคณะกรรมการเห็นว่ามีมูลจึงค่อยส่งไปให้ศาลฏีกาเป็นผู้วินิจฉัยในประเด็นนี้ และ ป.ป.ช. ยื่นเรื่องถอดถอนนักการเมืองที่ความผิดฐานมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติฯ [มาตรา 235(2)] โดยอำนาจดังกล่าวนี้ เป็นอำนาจที่มีมาแต่ดั่งเดิม กล่าวคือ หากผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคนใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจใช้หน้าที่และอำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ให้ ป.ป.ช. เป็นผู้ไต่สวนและให้ความเห็น

ห้า: องค์กรอิสระมีหน้าที่รัดเข็มขัดไม่ให้เกิดประชานิยม กำหนดหน้าที่ของรัฐในการรักษาวินัยการเงินการคลัง [มาตรา 62] กำหนดให้องค์กรอิสระเป็นผู้กำกับเรื่องวินัยการเงินการคลัง [มาตรา 245] นอกจากนี้ ยังให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเสนอผลการตรวจสอบการกระทำที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐและอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่การเงินการคลังของรัฐอย่างร้ายแรงต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเพื่อพิจารณา และถ้าคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเห็นพ้องด้วยกับผลการตรวจสอบดังกล่าวให้ปรึกษาหารือร่วมกับ กกต.และ ป.ป.ช.หากที่ประชุมร่วมเห็นพ้องกับผลการตรวจสอบนั้นให้ร่วมกันมีหนังสือแจ้งสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และ ครม.เพื่อทราบโดยไม่ชักช้า และให้เปิดเผยผลการตรวจสอบดังกล่าวต่อประชาชน  เพื่อประโยชน์ในการระงับหรือยับยั้งความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐ

แต่ที่น่าแปลกใจคือการตัดบทบัญญัติให้ประชาชนเข้าชื่อถอดถอน นับว่าเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจที่สุดสำหรับรัฐธรรมนูญที่ถูกขนานนามว่า "ปราบโกง" แต่กลับเอาอำนาจที่เคยมีอยู่อย่างการเข้าชื่อถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งที่ถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญทั้งฉบับปี 40 และ 50 ออกไป ทั้งนี้ แต่ก่อนรัฐธรรมนูญจะกำหนดให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคนมีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภาเพื่อให้วุฒิสภามีมติถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งได้

บทเฉพาะกาลแม้จะเขียนไว้ส่วนหลังสุด แต่เป็นส่วนที่ถูกวิจารณ์สูงที่สุดในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ บทเฉพาะกาลได้กำหนดให้ตัวละครทางการเมือง ทั้งคสช. รัฐบาลปัจจุบัน สนช. สปท. ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่ ประเด็นที่สังคมกังวลกันมาก เช่น การกำหนดให้ 5 ปีแรก ส.ว. มี 250 คน ซึ่งให้คสช. คัดเลือกทั้งหมดและบรรดาผู้นำเหล่าทัพ 6 คน เป็น ส.ว. โดยอัตโนมัติตามตำแหน่ง หรือ การกำหนดให้ กรธ. ยังอยู่ต่ออีก 8 เดือน เพื่อร่างกฎหมายลูก 10 ฉบับเองทั้งหมด หากไล่ดูกำหนดการตามบทเฉพาะกาลแล้วพบว่า หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติ กระบวนการต่างๆ ก็ต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 16 เดือนถึงจะนำไปสู่การเลือกตั้งซึ่งอาจเกิดขึ้นอย่างเร็วในเดือนธันวาคม 2560 ระยะเวลาที่ยาวนานเช่นนี้ ทำให้ คสช. ถูกมองว่า จงใจจะอยู่ในอำนาจต่อให้ยาวที่สุด และทำให้การทำประชามติไม่ส่งผลให้ไปสู่การเลือกตั้งได้โดยเร็ว

ประเด็นในมาตราสุดท้ายของร่างรัฐธรรมนูญ อาจเป็นประเด็นที่คนกังวลมากที่สุด คือ การกำหนดให้ประกาศ คำสั่ง และการกระทำที่ผ่านมาของ คสช. ถือว่าชอบด้วยกฎหมายและให้มีผลบังคับใช้ต่อไป หากจะยกเลิกต้องออกเป็นพระราชบัญญัติ ถ้าหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการทำประชามติและประกาศใช้ จึงเท่ากับเป็นประชามติที่รับรองความชอบธรรมให้ประกาศ คำสั่ง และการใช้อำนาจต่างๆ ของคสช. ชอบด้วยกฎหมายไปโดยปริยาย ซึ่ง ณ ตอนนี้รัฐธรรมนูญก็ผ่านความเห็นชอบของประชาชนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้ก็ได้เวลานับถอยหลังสู่การเลือกตั้งและรอการปฏิรูปที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นการเมืองระดับชาติ การเมืองท้องถิ่น ตำรวจ การศึกษา โอกาสต่อไปมาเจาะสนามท้องถิ่นกันบ้างว่าหลังมีรัฐธรรมนูญใหม่แล้วใครเตรียมตัวกันอย่างไรบ้างทั้งหน้าเก่า หน้าใหม่ นักการเมืองท้องถิ่นจะกระโดดขึ้นระดับชาติหรือระดับชาติจะลงมาเล่นท้องถิ่นต้องติดตาม

สนับสนุนโดย
- กฟผ.โรงไฟฟ้าจะนะ www.chana.egat.co.th/home
- มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา www.skru.ac.th
- ธีระการช่าง หาดใหญ่ โทร 086-4910345 www.facebook.com/teerakarnchanghy