Main Menu

ข่าว:

ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่ www.SongkhlaMedia.com เรียนเชิญชาวสงขลาและทุกท่านร่วมขับเคลื่อนเว็บไซต์สาระที่มากกว่าข่าว ร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกันเพื่อสงขลาบ้านเรา

ตื่นทองพัทลุง หยุดไม่อยู่ ชาวบ้านดาหน้าขุดไม่เลิก

เริ่มโดย ฅนสองเล, 13:53 น. วันที่ 30 05 57

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

ฅนสองเล

ที่มา คมชัดลึก http://www.komchadluek.net

ตื่นทองพัทลุง หยุดไม่อยู่ ชาวบ้านดาหน้าขุดไม่เลิก กรมศิลป์ สั่งประกาศพื้นที่ควบคุม วอนคนขุดพบนำมามอบให้ทางการศึกษาประวัติศาสตร์ มีค่าตอบแทนให้


                           29 พ.ค. 57  ที่ดินสวนปาล์มปลูกใหม่ของนายวิ ทับแสง ที่ ต.เขาชัยสน ยังคลาคล่ำไปด้วยผู้คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านใน จ.พัทลุง และจังหวัดใกล้เคียง ที่พากันแบกจอบ เสียม มาขุดหาทองคำต่อเนื่องเกือบ 1 สัปดาห์แล้ว ชาวบ้านที่ประสบความสำเร็จ ขุดพบทองคำ และเครื่องประดับล้ำค่า เช่น กำไล ต่างหูเมื่อวันก่อน ต่างมีกำลังใจที่จะขุดหาต่อไป ส่วนชาวบ้านหลายรายที่ยังไม่มีโชคก็ยังไม่ย่อท้อ นำดอกไม้ ธูป เทียน และหมากพลู มาบูชาเซ่นไหวเจ้าที่เจ้าทาง

                           ขณะที่เจ้าหน้าที่ทางการพยายามเร่งทำความเข้าใจและขอความร่วมมือประชาชนไม่ให้เข้าไปขุดหาทองเพื่อกันพื้นที่ให้เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญจากกรมศิลปากรเข้าไปสำรวจร่องรอยทางประวัติศาสตร์ แต่ดูเหมือนการขอร้องของทั้งเจ้าของที่ดินและเจ้าหน้าที่ทางการจะไม่เป็นผล เพราะข่าวที่ออกไปยิ่งทำให้กระแสตื่นทองแพร่สะพัดมากยิ่งขึ้น จนในที่สุด นายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร ต้องเดินทางลงไปตรวจสอบพื้นที่ด้วยตัวเองแล้ว

                           นายเอนก กล่าวว่า ตามที่มีการขุดพบทองคำจำนวนมาก ใน อ.เขาชัยสน สันนิษฐานได้ว่าแถบใกล้เคียงมีพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช เพียงแห่งเดียวที่มีระยะทางใกล้กันมากที่สุดและมีแม่น้ำที่สามารถลัดเลาะมายังแหล่งที่พบทองได้

                           อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ลักษณะของแผ่นทองคำที่ชาวบ้านขุดพบนั้น ได้ผ่านกระบวนการของช่างทองมาแล้ว โดยการรีดเป็นแผ่น เพื่อให้สามารถพกพาได้ง่าย โดยขณะนี้ได้มอบหมายให้สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช เป็นผู้ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดี เพื่อพิสูจน์ทางภูมิศาสตร์ ลักษณะการพบทองคำว่าเป็นการฝังไว้โดยเจตนา หรือด้วยเหตุอย่างอื่น ขณะเดียวกันอยากให้ประชาชนที่พบทองคำเหล่านี้ โดยเฉพาะทองคำที่มีลวดลาย จารึกอักษร หรือรูปแบบศิลปะต่างๆ นำมามอบให้แก่กรมศิลปากร เพื่อเก็บไว้เป็นมรดกให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป ซึ่งทางกรมศิลปากรจะมีค่าตอบแทนให้ตามมูลค่าจริงและมีค่าตอบแทนในส่วนของการทรงคุณค่าเพิ่มเข้าไปอีก เป็นมูลค่าที่สูงกว่าท้องตลาด

                           "น่าเสียดายหากหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดีจะถูกหลอมไปเพียงเพื่อประโยชน์ชั่วครั้งชั่วคราว ได้เงินมาแล้วก็หมดไป"

                           อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ทองคำที่พบ เชื่อว่าเป็นทองคำของเจ้านายในระดับเจ้าเมือง หรือขุนนางชั้นสูง หรือคหบดี เนื่องจากดูปริมาณที่พบแล้วมีจำนวนมาก และขณะนี้ได้ประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอให้ประกาศให้พื้นที่แหล่งโบราณคดีจุดนี้เป็นพื้นที่ควบคุมห้ามประชาชนเข้ามาขุดค้น ขณะเดียวกันจะประสานไปยังกองทัพภาคที่ 4 ในการเข้าจัดระเบียบพื้นที่เพื่อให้กรมศิลปากรเข้าดำเนินการ

                           นายอาณัฐ บำรุงวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช กล่าวว่า เจ้าหน้าที่รายงานว่า ได้นำเครื่องสแกนโลหะเข้ามาในพื้นที่ เพื่อทำการค้นหาทองคำแล้ว ขณะนี้กำลังเร่งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าป้องกันพื้นที่อย่างเร่งด่วน เนื่องจากเกรงว่าแหล่งโบราณคดีที่สำคัญนี้จะเสียหายมากไปกว่านี้

                           น.ส. มาลีภรณ์ คุ้มเกษม หัวหน้ากลุ่มนิติการ กรมศิลปากร กล่าวเตือนชาวบ้านว่า อย่าหลงกลพ่อค้าหรือร้านขายทอง แล้วยอมขายทองโบราณที่ขุดได้ไปในราคาบาทละแค่ 2-3 หมื่นบาท เพราะหากกรมศิลปากรพิสูจน์และยืนยันว่าเป็นโบราณวัตถุที่มีคุณค่าศิลปะและทางประวัติศาสตร์ จะมีค่ามากกว่านี้หลายเท่า

                           "ตามกฎหมายแล้วสมบัติทั้งหมดที่ขุดได้จากใต้พื้นดิน ต้องส่งมอบให้กรมศิลปากร ถือเป็นทรัพย์สมบัติของชาติ เพราะคุณไม่สามารถพิสูจน์ว่าเป็นของตัวคุณมาก่อน แม้ว่าจะขุดได้ในที่ดินของตัวเราเองก็ตาม สภาพตอนนี้ชาวบ้านหลายร้อยคน แห่เข้ามาขุดทองพร้อมๆ กัน เจ้าหน้าที่ทำอะไรไม่ได้มากนัก แต่สุดท้ายก็จะไปใช้กฎหมายจัดการภายหลัง เพราะมีการถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐานหมดแล้ว ส่วนพ่อค้าหรือร้านทองที่ซื้อไปนั้น กฎหมายยิ่งเอาผิดขั้นรุนแรง เพราะถือว่ารับซื้อของโจรโดยเจตนา จะอ้างว่าไม่รู้ไม่ได้ เพราะมีข่าวออกไปทุกสื่อ" หัวหน้ากลุ่มนิติการ ระบุ

                           น.ส.มาลีภรณ์ อธิบายต่อว่า ชาวบ้านเข้าใจผิดคิดว่านำมาคืนให้กรมศิลปากรจะได้เงินแค่ 1 ใน 3 ของราคาทองปัจจุบัน แต่ความจริงแล้วจะมีการตั้งคณะกรรมการพิจารณา เช่น พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ หากราคาตลาดโลกและตลาดค้าศิลปะตั้งไว้ 1 แสนบาท ก็จะได้เงินค่าตอบแทนคืนให้ไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นบาท ดังนั้นถ้าแผ่นทองคำและเครื่องประดับเหล่านี้ พิสูจน์แน่ชัดว่าเป็นของโบราณจะมีราคาแพงกว่าทองรูปพรรณที่ขายตามร้านทั่วไปหลายเท่า ขอแนะนำให้ชาวบ้านนำมามอบให้แก่กรมศิลปากรตรวจสอบและทำบัญชีไว้จะดีกว่า

                           ทั้งนี้ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา กรมศิลปากรได้ชดเชยซื้อคืน "ศิวลึงค์ทองคำ" น้ำหนัก 13 กรัมและ 19 กรัม 2 องค์ จากชาวบ้าน อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช ผู้ขุดพบแล้วนำมามอบส่งคืนถึง 4.7 แสนบาท ขณะที่ก่อนนี้ชาวบ้านคนเดียวกันได้เอาศิวลึงค์ทองคำที่ขุดพบพร้อมกันอีก 2 องค์ ไปขายให้ข้าราชการท้องถิ่นคนหนึ่งได้ราคาแค่ 4 หมื่นบาทเท่านั้น 
สองเลรีวิว กดติดตามได้ที่
www.facebook.com/songlayreview
www.youtube.com/@Songlayreview
www.tiktok.com/@songlayreview22
รีวิวบ้านบ้าน ข่าวสารเข้มข้น สองเลรีวิว TLP : 0897384215