Main Menu

ข่าว:

ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่ www.SongkhlaMedia.com เรียนเชิญชาวสงขลาและทุกท่านร่วมขับเคลื่อนเว็บไซต์สาระที่มากกว่าข่าว ร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกันเพื่อสงขลาบ้านเรา

คนสงขลากับภาษาที่ 2–3 จำเป็นแค่ใหนในประชาคมอาเซียน

เริ่มโดย สงขลามีเดีย, 11:27 น. วันที่ 30 04 57

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

สงขลามีเดีย

ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในปี พ.ศ. 2558 การพัฒนาศักยภาพด้านต่าง ๆ ให้แก่ประชาชนให้พร้อมเข้าสู่การแข่งขันกับนานาชาติจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะทักษะทางด้านภาษา ซึ่งแม้จะกำหนดให้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาในการทำงาน

แต่เมื่อประชาคมอาเซียนจะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายประชากรกันอย่างมากมาย โดยเฉพาะแรงงานระดับฝีมือ ดังนั้นความรู้ทางด้านภาษาอังกฤษอย่างเดียวอาจไม่เพียงพออีกต่อไป หากได้มีโอกาสเรียนรู้ภาษาที่สามเพิ่มเติมก็จะยิ่งสร้างโอกาสและเพิ่มความได้เปรียบในการประกอบอาชีพมากขึ้น ทั้งการค้าขาย ธุรกิจโรงแรม ท่องเที่ยว หรือการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น

นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า เนื่องจากจังหวัดสงขลามีความหลากหลายทั้งในบริบทของเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เป็นศูนย์กลางการค้าขายที่สำคัญของภาคใต้ มีด่านชายแดนส่งสินค้าเข้าออกถึงปีละ 5 แสนล้านบาท มากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปลายปี 2558 นั้น  แม้ว่ากฎบัตรอาเซียนมาตราที่ 34 ระบุให้ใช้ภาษาอังกฤษในการทำงานของของกลุ่มประเทศอาเซียน แต่ประชาชนใน 10 ประเทศอาเซียน   ยังใช้ภาษาอื่นๆ ที่เป็นภาษาประจำชาติ หรือภาษาประจำท้องถิ่นของตนเอง เช่น

ภาษามลายู เป็นภาษาที่หลายประเทศในอาเซียนใช้เป็นภาษาราชการ เช่น ประเทศมาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซีย บางส่วนของประเทศสิงคโปร์  หรือแม้แต่ภาษาจีนก็เป็นภาษาที่มีความสำคัญ เพราะนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในเมืองหาดใหญ่หรือแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ของจังหวัดสงขลา  ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนทั้งจากประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ ซึ่งนักท่องเที่ยวเหล่านี้ใช้ภาษจีนในการสื่อสาร ซึ่งหากวันนี้คนสงขลาจะเริ่มต้นพัฒนาทักษะหรือฝึกฝนการใช้อื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่ภาษาอังกฤษ ก็จะเป็นการเพิ่มโอกาสที่ดีให้กับตนเองในการประกอบอาชีพ หรือการติดต่อสื่อสาร

ศูนย์ศึกษาอาเซียนโรงเรียนบ้านน้ำกระจาย ต.พะวง อ.เมืองสงขลา เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องการเตรียมความพร้อมด้านภาษาให้กับเยาวชนและประชาชนในท้องถิ่น เนื่องจากโรงเรียนแห่งนี้ เป็นที่ตั้งของโรงงาน  ศูนย์การค้า และหน่วยงานราชการต่าง ๆ รวมถึงเป็นที่ตั้งของชุมชนที่มีความหลากหลายในเรื่องของศาสนา ชุมชนแห่งนี้ก็จำเป็นจะต้องปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ

นายประทีป เพ็ชรจำรัส ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านน้ำกระจาย เล่าว่า เมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน คาดว่าจะมีแรงงานจากมาเลเซียเข้ามายังสงขลาเป็นจำนวนมาก ดังนั้นภาษามลายูจึงมีความจำเป็นที่จะทำให้การสื่อสารเกิดความเข้าใจกัน  โรงเรียนจึงได้ตั้งศูนย์ศึกษาอาเซียนและเปิดสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารให้แก่นักเรียน และเปิดสอนภาษามลายูให้แก่เยาวชนและผู้ประกอบการในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะกับนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย

อาจารย์ณิชาห์รี ปุตรี อาจารย์ประจำหน่วยวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ทำหน้าที่ครูผู้สอนภาษามลายูที่ศูนย์ศึกษาอาเซียนโรงเรียนบ้านน้ำกระจาย บอกว่า ในการสอนภาษามลายูแต่ละคอร์ส จะให้เรียนรวมกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เพราะจะทำให้บรรยากาศเป็นไปด้วยความสนุกสนาน อีกทั้งหลักสูตรก็สามารถใช้ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เพราะเป็นภาษามลายูอย่างง่ายที่ใช้สื่อสารกันในชีวิตประจำวัน เช่น การแนะนำตัว การบอกทาง คำกล่าวขอบคุณ ขอโทษ การต่อรองราคาเป็นต้น

จรูญศรี มนัสวานิช เจ้าของกิจการ ไม้งามรีสอร์ท หนึ่งในผู้เข้ารับการอบรมภาษามลายู เล่าว่า ก่อนหน้านี้เมื่อมีชาวมาเลเซียเข้ามาพักจะไม่ค่อยกล้าเข้าไปคุย ต้องคอยหลบ เพราะไม่มั่นใจในตัวเอง แต่ตอนนี้สามารถเข้าไปคุยได้มากขึ้น และต่อไปก็จะพยายามพัฒนาตนเองให้พูดได้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษามลายู และจะฝึกฝนให้พูดได้คล่องกว่านี้ เพราะเด็กๆ ชาวมาเลเซียที่เข้ามาพัก ส่วนใหญ่จะพูดภาษาอังกฤษมากกว่าภาษามลายู

จะว่าไปแล้วในพื้นที่สงขลา นอกจากภาษามลายูแล้ว ภาษาพม่าและภาษาเขมรก็มีความ สำคัญไม่แพ้กัน เพราะจากข้อมูลศูนย์ข่าวสารแรงงานจังหวัดสงขลา จากการสำรวจเมื่อเดือนพฤษภาคม 2555 ระบุว่ามีแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในภาคใต้จำนวน 298,028 คน เฉพาะที่จังหวัดสงขลาจังหวัดเดียวมีแรงงานต่างด้าวถึง 49,549 คน 

ซึ่งนางสาวมายีด๊ะห์ พิทักษ์คุมพล พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลสงขลา ช่วยยืนยันบรรยากาศความเป็นนานาชาติของจังหวัดสงขลาได้อย่างดีว่า ในทุกๆ วันจะมีแรงงานชาวพม่าและกัมพูชาไม่ต่ำกว่าสิบคนเข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาล ซึ่งแรงงานบางส่วนจะพูดภาษาไทยและภาษาอังกฤษไม่ได้เลย พูดได้แต่ภาษาพม่าหรือภาษาเขมร ทำให้แพทย์และพยาบาลต้องใช้ล่ามมาช่วย หรือบางครั้งก็ต้องเปิดพจนานุกรมคุย เพื่อช่วยให้การสื่อสารมีความถูกต้อง แม่นยำขึ้น ดังนั้นถ้าศูนย์ศึกษาอาเซียน โรงเรียนบ้านน้ำกระจาย จะเปิดสอนภาษาพม่าและภาษาเขมรเพิ่มอีกภาษา ก็จะเป็นประโยชน์แรงงานต่างด้าวในจังหวัดสงขลาเป็นอย่างมาก

ในขณะที่ สมชาย ดวงสวัสดิ์ พ่อค้าในตลาดกิมหยงเมืองหาดใหญ่ มีความเห็นว่า อยากให้โรงเรียนบ้านน้ำกระจายเปิดสอนภาษาจีนด้วย เพราะพ่อค้า แม่ค้าส่วนใหญ่จะใช้ภาษาจีนในการสื่อสารกับนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย ซึ่งอาจเป็นเพราะมีชาวมาเลเซียจำนวนไม่น้อยมีเชื้อสายจีน ซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะมาจับจ่ายใช้สอย และสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในจังหวัดสงขลา ถ้าพ่อค้า แม่ค้าในพื้นที่พูดภาษาจีนได้ ก็จะยิ่งสร้างโอกาสในการค้าขายเพิ่มขึ้น

จะเห็นได้ว่าเรื่องของภาษากำลังกลายเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับคนไทย โดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดใหญ่อย่างสงขลาที่เป็นทั้งศูนย์กลางเศรษฐกิจ การค้า การคมนาคม และการท่องเที่ยว อนาคตข้างหน้าความจำเป็นที่คนสงขลาทุกคนจะต้องรู้อย่างน้อย 2-3 ภาษา คงไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้  แต่ระยะเวลาแค่ 1 ปีกว่าที่เหลือก่อนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ที่เราจะได้เข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการ  จะเพียงพอสำหรับการฝึกฝนพัฒนาทักษะทางภาษาเพิ่มเติมหรือไม่ เป็นเรื่องที่คนสงขลาต้องตัดสินใจกันเอง แต่ถ้าคิดว่าภาษาที่ 2 หรือ 3 สำคัญและจำเป็นจะต้องเร่งเรียนรู้ฝึกฝน ก็ขอแค่ให้มีการเริ่มต้น บอกได้เลยว่าไม่มีคำว่าสายสำหรับทุกคน...


สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา / รายงาน
สนับสนุนโดย
- กฟผ.โรงไฟฟ้าจะนะ www.chana.egat.co.th/home
- มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา www.skru.ac.th
- ธีระการช่าง หาดใหญ่ โทร 086-4910345 www.facebook.com/teerakarnchanghy