Main Menu

ข่าว:

ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่ www.SongkhlaMedia.com เรียนเชิญชาวสงขลาและทุกท่านร่วมขับเคลื่อนเว็บไซต์สาระที่มากกว่าข่าว ร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกันเพื่อสงขลาบ้านเรา

ศูนย์โรคหัวใจโรงพยาบาลม.อ.ก้าวหน้า เปลี่ยนลิ้นหัวใจผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด

เริ่มโดย Zebakai, 04:23 น. วันที่ 06 12 62

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

Zebakai

ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาล ม.อ. เปิดนวัตกรรมการรักษาโรคหัวใจแบบใหม่ เปลี่ยนลิ้นหัวใจผ่านทางสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด แห่งแรกในส่วนภูมิภาค คนไข้ฟื้นตัวเร็ว ไม่มีแผล ภาวะแทรกซ้อนน้อย ไม่ต้องนอนโรงพยาบาลนาน

นพ.สิริชัย ชีวธนากรณ์กุล รองผู้อำนวยการศูนย์โรคหัวใจนราธิวาสราชนครินทร์ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ กล่าวว่า  ปัจจุบันแนวโน้มของคนไข้เป็นโรคหัวใจมีมากขึ้น ประกอบกับประชาชนสนใจในสุขภาพและ มีความรู้เรื่องโรคหัวใจมากขึ้น ทำให้มีความต้องการตรวจสุขภาพและรับการรักษามีมากขึ้น  ซึ่งโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ได้มีการสร้างศูนย์โรคหัวใจ เพื่อรองรับรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจแบบครบวงจรที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในภาคใต้ ทำการรักษาทั้งการรักษาแบบมาตรฐานทั่วไป เป็นศูนย์ที่ดูแลรักษารับส่งต่อคนไข้ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก  และการรักษาแบบก้าวหน้าโดยพยายามนำนวัตกรรม ความรู้ทางวิชาการใหม่ๆ จากต่างประเทศมาใช้

ปัจจุบัน ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้มีการพัฒนาวิธีการรักษาโรคหัวใจอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทันกับเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าขึ้น โดยมีการบุกเบิกการทำหัตถการเปลี่ยนลิ้นหัวใจ aortic ผ่านทางสายสวนนำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วย ซึ่งนับได้ว่าเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกในส่วนภูมิภาคที่ได้นำวิธีการนี้มาใช้ โดยได้ศึกษาและพัฒนาทีมรักษาด้วยวิธีนี้มาเป็นเวลาประมาณ 2 ปี แต่เริ่มนำมาใช้รักษาคนไข้ตั้งแต่ วันที่ 6 กรกฎาคม 2560  มีคนไข้รับการรักษาไป 8 คน อายุตั้งแต่ 75-91 ปี มีผลการรักษาที่ดี สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เช่นคนทั่วไป   การรักษาด้วยวิธีนี้ ได้มีการใช้กันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศเป็นเวลา 7-8 ปีแล้ว ส่วนในเอเชียและในประเทศไทยเพิ่งได้มีการนำมาใช้กันไม่นานมานี้ ในโรงพยาบาลใหญ่ๆ ในกรุงเทพมหานคร

เมื่อก่อนการรักษาลิ้นหัวใจต้องใช้วิธีการผ่าตัดเปิดหน้าอก ซึ่งผู้ป่วยต้องอยู่โรงพยาบาลนานเป็นสัปดาห์  พัฒนาการของการรักษาพยาบาลโดยการเปลี่ยนลิ้นหัวใจผ่านสายสวน มีลักษณะการรักษาคล้ายกับการทำบอลลูน คือคนไข้ไม่ต้องผ่าตัดเปิดหน้าอก เพียงใส่สายเข้าไปทางเส้นเลือดบริเวณแขน ขา หรือคอ แล้วใส่ลิ้นหัวใจเทียมผ่านทางหลอดเลือด  ซึ่งข้อดีของการรักษาแบบนี้คือคนไข้ฟื้นตัวเร็ว ไม่มีแผลบริเวณหน้าอก ภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่า ไม่ต้องนอนโรงพยาบาลนาน ซึ่งผู้ป่วยที่เหมาะสำหรับการรักษาด้วยวิธีนี้ คือผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงเมื่อต้องรับการผ่าตัด ซึ่งเทคโนโลยีนี้จะตอบโจทย์ในการรักษาผู้สูงอายุหรือผู้ที่ความเสี่ยงสูงอื่นๆ เช่น มีโรคประจำตัวบางชนิด

"ในขณะนี้ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์เป็นที่แรกและที่เดียวในภูมิภาค ที่ให้การรักษาด้วยวิธีนี้ การรักษาโดยการเปลี่ยนลิ้นหัวใจผ่านสายสวนต้องมีการร่วมทำงานเป็นทีม ระหว่างอายุรแพทย์ ศัลยแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด รังสีแพทย์ วิสัญญีแพทย์ ทีมพยาบาล เจ้าหน้าที่ห้องผ่าตัด เป็นต้น ซึ่งการสามารถร่วมรักษาเป็นทีมถือเป็นจุดเด่นของการรักษาของที่นี่  นอกจากต้องมีความพร้อมทั้งบุคลากรและอุปกรณ์แล้ว ยังต้องมีห้องผ่าตัดแบบ Hybrid ที่มีโปรแกรมสำหรับทำการหัตถการ TAVR (Transcatheter Aortic Valve Replacement) โดยเฉพาะ และสามารถรองรับการผ่าตัดในกรณีฉุกเฉินได้ซึ่งจะมีอยู่ไม่กี่แห่ง  อย่างไรก็ตามในปัจจุบันทราบว่าหลายโรงพยาบาลก็พยายามสร้างความพร้อมเพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่นี้" นพ.สิริชัย ชีวธนากรณ์กุล กล่าว

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่มีส่วนในการตัดสินใจของผู้ป่วยที่จะรับการรักษาด้วยวิธีนี้ ก็คือค่ารักษาที่ในปัจจุบันยังค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้วิธีผ่าตัด เนื่องจากอุปกรณ์ที่ใช้ในการรักษาที่เป็นลิ้นหัวใจเทียม ต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศ และเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ยังเบิกค่ารักษาพยาบาลไม่ได้  ซึ่งโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งจากมูลนิธิโรงพยาบาลเพื่อดำเนินการรักษาด้านนี้  แต่ในอนาคตเมื่อเทคโนโลยีนี้แพร่หลายมากขึ้น ราคาของลิ้นหัวใจเทียมและอุปกรณ์จะถูกลง และมีบริษัทที่ผลิตอุปกรณ์ด้านนี้เพิ่มมากขึ้น  อย่างไรก็ตามหากท่านผู้มีจิตศรัทธาประสงค์ร่วมจะร่วมสนับสนุนเพื่อการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคหัวใจ สามารถร่วมบริจาคได้ที่มูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์