Main Menu

ข่าว:

ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่ www.SongkhlaMedia.com เรียนเชิญชาวสงขลาและทุกท่านร่วมขับเคลื่อนเว็บไซต์สาระที่มากกว่าข่าว ร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกันเพื่อสงขลาบ้านเรา

10 มีนาคม "วันสงขลา" 178 ปี หลบมาบ้านเราพบกิจกรรมมากมายตลอดเดือนมีนาคม

เริ่มโดย สงขลามีเดีย, 15:34 น. วันที่ 19 02 63

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

สงขลามีเดีย

10 มีนาคม "วันสงขลา" 178 ปี หลบมาบ้านเราพบกิจกรรมมากมายตลอดเดือนมีนาคม 

จังหวัดสงขลา ได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงของภาคใต้ ด้วยความเพียบพร้อมและการเป็นศูนย์กลางในทุกๆ ด้าน ศูนย์ราชการระดับภูมิภาค ศูนย์รวมการค้า ศูนย์กลางคมนาคม การศึกษา  ทำให้จังหวัดสงขลาพัฒนาและเติบโตอย่างต่อเนื่อง และด้วยความเป็นเมือเก่าที่มีประวัติความเป็นมายาวนานนับเป็นอีกหนึ่งมนต์เสน่ห์แห่งจังหวัดสงขลา

หลายคนอาจมีความสงสัยว่าทำไมจังหวัดสงขลา กำหนดให้วันที่ 10 มีนาคม เป็นวันสงขลา เพราะจุดเริ่มต้นของเมืองสงขลาบ่อยาง ได้เริ่มต้นอย่างเป็นทางการเมื่อมีการประกอบพิธีวางเสาหลักเมือง เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2385 โดยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเทียนชัยและไม้ชัยพฤกษ์ให้แก่พระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง) และให้สมเด็จพระอุดมปิฎก เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วยพระราชครูอัษฎาจารย์พราหมณ์ เป็นประธานฝ่ายพราหมณ์ ร่วมกันประกอบพิธีวางเสาหลักเมืองสงขลา ณ ศาลหลักเมืองสงขลา ซึ่งยังคงมีหลักฐานแสดงชัดเจนที่สุดมาจวบจนทุกวันนี้ และเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2539 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระบรมสารีริกธาตุ ให้มาบรรจุไว้ในเจดีย์หลวงบนเขาตังกวน ซึ่งเป็นสิริมงคลครั้งสำคัญของจังหวัดสงขลา

จังหวัดสงขลา โดยความร่วมมือของส่วนราชการ องค์กรการกุศล ภาคเอกชน ได้ร่วมกันกำหนดให้วันที่ 10 มีนาคมของทุกปี เป็นวันสงขลา สำหรับในปี 2563 งานวันสงขลา มีการจัดขึ้นตลอดเดือนมีนาคม ภายใต้แนวทางเดือนแห่งวันสงขลา 2563 เดือนมีนา วันสงขลา ซิงกอร่า รำลึก มีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ 3 มี.ค.งาน 438 ปี ชาตกาลหลวงปู่ทวด ณ วัดต้นเลียบ สทิงพระ 8 ม.ค.งานวิ่งสงขลาสู่เมืองมรดกโลก และกิจกรรมสำคัญ 9-11 มี.ค.กิจกรรมวันสงขลาอย่างเป็นทางการ ณ ศาลหลักเมืองสงขลา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสงขลา และบริเวณย่านเมืองเก่านครสงขลา โดยมีพิธีทำบุญตักบาตร ,พิธีบวงสรวงเสาหลักเมืองสงขลา ,ขบวนเชิญผ้าพระบฏบูชาพระบรมสารีริกธาตุห่มเจดีย์หลวงขขาตังกวน ,การแสดงทางวัฒนธรรม การเสวนาวิชาการ 178 ปี สงขลาบ้านเราแต่เก่าก่อน ,การมอบรางวัลคนสงขลาต้นแบบ และการออกร้านจำหน่ายสินค้าแบบย้อนยุค 15 มี.ค.วิ่งข้ามทะเลสาบสงขลา 29 มี.ค.วิ่งเชื่อมวัฒนธรรมสงขลา 31 มี.ค.วงดนตรีสุนทราภรณ์

นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า จังหวัดสงขลา ให้ความสำคัญกับวันสงขลา ซึ่งตรงกับวันที่ 10 มีนาคมของทุกปี เป็นวันที่ได้เชิญหลักไม้ชัยพฤกษ์ลงฝังไว้ที่กลางเมืองสงขลา ซึ่งเป็นเสาหลักเมืองที่ปรากฏจนทุกวันนี้เป็นเวลา 178 ปี ซึ่งเป็นวันที่ชาวสงขลาทุกคนต้องระลึกถึงการสถาปนาเมืองสงขลาร่วมกันทำกิจกรรมดีๆ แก่บ้านเมืองของตนเองและมีส่วนช่วยในการส่งเสริม อนุรักษ์ ฟื้นฟูวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นการสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นในชุมชน ซึ่งถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในจังหวัดและที่สำคัญการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างภาครัฐกับประชาชน เกิดความสมานฉันท์และความผูกพันธ์ในการอยู่ร่วมกันในสังคม ซึ่งจะนำไปสู่ความสันติสุข ตลอดจนการได้ระลึกถึงบรรพชนที่ได้สร้างเมืองมา เกิดความสำนึกรักและหวงแหนในบ้านเกิดของตนเอง เก็บเกี่ยวความรู้ประสบการณ์และร่วมกันภาคภูมิใจ

จังหวัดสงขลา จึงขอเชิญชวนชาวสงขลา ทั้งที่อยู่ในจังหวัดสงขลา ไปตั้งหลักปักฐานอยู่ต่างจังหวัด ต่างประเทศ ร่วมกลับมาเยี่ยมเยือนบ้านเกิดของตัวเองและร่วมกิจกรรมวันสงขลา ตลอดเดือนมีนาคม ร่วมภาคภูมิใจกับประวัติศาสตร์ที่ยาวนานของเมืองที่ได้ชื่อว่า "แผ่นดินสองทะเล สามน้ำ งามหนึ่งเดียว" ที่นี่ ซิงกอร่า สงขลา ไทยแลนด์

สำหรับจังหวัดสงขลาในปัจจุบัน มีขนาดพื้นที่ 7,393,889 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 4,853,249 ไร่ มีขนาดใหญ่ เป็นอันดับที่ 27 ของประเทศ และใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของภาคใต้รองจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช แบ่งเขตปกครองเป็น 16 อำเภอ คือ เมืองสงขลา,หาดใหญ่,รัตภูมิ,ควนเนียง,บางกล่ำ,คลองหอยโข่ง,ระโนด,สทิงพระ,กระแสสินธุ์,สิงหนคร,นาทวี,เทพา,สะบ้าย้อย,จะนะ,นาหม่อม,สะเดา

- ตราประจำจังหวัด สังข์ทองบนพานแว่นฟ้า
- ดอกไม้ประจำจังหวัด เฟื่องฟ้า
- ต้นไม้ประจำจังหวัด สะเดาเทียม
- คำขวัญประจำจังหวัด นกน้ำเพลินตา สมิหลาเพลินใจ เมืองใหญ่สองทะเล เสน่ห์สะพานป๋า ศูนย์การค้าแดนใต้   

อาณาเขตติดต่อ ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดพัทลุง ทิศตะวันออก ติดต่อกับอ่าวไทย ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี รัฐเคดาห์ และรัฐเปอร์ลิสของประเทศมาเลเซีย ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดพัทลุง และจังหวัดสตูล

*ประวัติความเป็นมาฉบับเต็มจาก http://www.songkhla.go.th
ข้อมูลเกี่ยวกับเมืองสงขลา ปรากฏเป็นครั้งแรกในบันทึกของพ่อค้าและนักเดินเรือชาวอาหรับ-เปอร์เซีย ระหว่าง ปี พ.ศ.1993-2093 ในนามของเมืองซิงกูร์ หรือซิงกอร่า แต่ในหนังสือประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักร สยามของนายกิโลลาส แซร์แวส เรียกชื่อเมืองสงขลา ว่า "เมืองสิงขร" จึงมีการสันนิษฐานว่า คำว่า สงขลา เพี้ยนมาจากชื่อ "สิงหลา" (อ่าน สิง-หะ-ลา) หรือสิงขร

เหตุผลที่สงขลามีชื่อว่า สิงหลา แปลว่าเมืองสิงห์ โดยได้ ชื่อนี้มาจากพ่อค้าชาวเปอร์เซีย อินเดีย แล่นเรือมาค้าขาย ได้เห็นเกาะหนู เกาะแมว เมื่อมองแต่ไกล จะเห็นเป็นรูป สิงห์สองตัวหมอบเฝ้าปากทางเข้าเมืองสงขลา ชาวอินเดีย จึงเรียกเมืองนี้ว่า สิงหลา ส่วนไทยเรียกว่า เมืองสทิง เมื่อมลายูเข้ามาติดต่อค้าขายกับเมืองสทิง ก็เรียกว่า เมืองสิงหลา แต่ออกเสียงเพี้ยนเป็นสำเนียงฝรั่งคือ เป็น ซิงกอร่า (Singora) ไทยเรียกตามเสียงมลายูและฝรั่งเสียง เพี้ยนเป็นสงขลา อีกเหตุผลหนึ่งอ้างว่า สงขลา เพี้ยนมา จาก "สิงขร" แปลว่า ภูเขา โดยอ้างว่าเมืองสงขลาตั้งอยู่ บริเวณเชิงเขาแดง ต่อมาได้มีการพระราชทานนาม เจ้าเมืองสงขลาว่า "วิเชียรคีรี" ซึ่งมีความหมายสอดคล้อง กับลักษณะภูมิประเทศ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชวินิจฉัยไว้ว่า "สงขลา" เดิมชื่อ สิงหนคร (อ่านว่า สิง-หะ-นะ-คะ-ระ) เสียงสระอะอยู่ท้าย มลายูไม่ชอบ จึงเปลี่ยนเป็นอา และชาวมลายูพูดลิ้นรัวเร็ว ตัดหะ และ นะ ออก คงเหลือ สิง-คะ-รา แต่ออกเสียงเป็น ซิงคะรา หรือ สิงโครา จนมีการเรียกเป็น ซิงกอรา

สงขลา เป็นเมืองประวัติศาสตร์ มีเรื่องราวสืบต่อกันตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีการค้นพบหลักฐาน ได้แก่ ขวานหิน ซึ่งเป็นเครื่องมือสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่อำเภอสทิงพระ ประวัติ ความเป็นมา และวัฒนธรรมสมัยที่ เมืองสทิงพระเจริญ เค บูรล์เบท ได้ให้ทัศนะว่า สทิงพระ คือศูนย์กลางของอาณาจักรเซี้ยะโท้หรือเซ็กโท เป็นแหล่งหนึ่งในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ได้รับวัฒนธรรมอินเดียโดยตรงในสมัยอาณาจักรศรีวิชัย เป็นเวลา ไม่น้อยกว่า 7 ศตวรรษ เพราะมีร่องรอยทางสถาปัตยกรรม ประติมากรรม ที่แสดงให้เห็นว่าเมืองสทิงพระเป็น ศูนย์กลางการปกครองดินแดน รอบ ๆ ทะเลสาบสงขลาในสมัยนั้น

ในพุทธศตวรรษที่ 19 ชื่อเมืองสทิงพระเริ่มเลือนหายไป และเกิดชุมชนแห่งใหม่ใกล้เคียงขึ้นแทน เรียกว่า "เมืองพัทลุงที่พะโคะ" ได้เจริญรุ่งเรืองเป็นศูนย์กลางทางพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ต่อมาระหว่าง พุทธศตวรรษที่ 20-22 พวกโจรสลัดมลายูได้เข้าคุกคามบ่อย ๆ ทำให้เมืองพัทลุงที่พะโค๊ะค่อย ๆ เสื่อม หลังจากนั้นเกิดชุมชนขนาดใหญ่ขึ้น 2 แห่ง บริเวณรอบทะเลสาบสงขลา คือ บริเวณเขาแดงปากทะเลสาบสงขลา และได้กลายเป็นเมืองสงขลาริมเขาแดง และอีกแห่งที่บางแก้ว อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง และกลาย เป็นเมืองพัทลุง

ระหว่างปี พ.ศ.2162-2223 เมืองสงขลาริมเขาแดงมีความเจริญด้านการค้าขายกับต่างประเทศ โดยมีเจ้าเมืองเชื้อสายมลายูอพยพมาจากอินโดนีเซีย พวกมลายูเหล่านี้ได้หลบหนีการค้าแบบผูกขาด ของพวกดัทช์มาเป็นการค้าแบบเสรีที่สงขลา โดยมีอังกฤษ์เป็นผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ในระยะแรกระหว่าง ปี พ.ศ.2162-2185 เจ้าเมืองสงขลาเป็นมุสลิม หลังจากนั้นในช่วงปี พ.ศ.2185-2223 เจ้าเมืองสงขลาเป็นกบฎ ไม่ยอมขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา ในที่สุดจึงถูกสมด็จพระนารายณ์มหาราช ปราบปรามจนราบคาบ และถูกปล่อยให้ทรุดโทรม และตกเป็นเมืองขึ้นของเมืองพัทลุง

จนถึงช่วงปี พ.ศ.2242-2319 เมืองสงขลาไปตั้งขึ้นใหม่ที่บริเวณ บ้านแหลมสน เรียกว่า เมืองสงขลาฝั่งแหลมสน ตั้งอยู่ตรงข้ามกับที่ตั้งตัวเมืองสงขลาปัจจุบัน เมืองสงขลา ได้พัฒนาเป็นหัวเมืองขนาดใหญ่ ในสมัยกรุงธนบุรี และสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เมื่อ พ.ศ.2310 ประเทศสยามเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า ได้เกิดก๊กต่าง ๆ ขึ้น เจ้าพระยานคร ซึ่งตั้งตัวเป็นใหญ่ ได้ตั้ง นายวิเถีย ญาติมาเป็นเจ้าเมือง เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีปราบก๊กเจ้านครได้แต่งตั้งให้ จีนเหยี่ยง แซ่เฮ่า ซึ่งเป็นนายอากรรังนก เป็นเจ้าเมืองในปี 2318 ได้รับพระราชทินนามเป็น "หลวงสุวรรณคีรีสมบัติ" (ต้นตระกูล ณ สงขลา) เชื้อสายของตระกูลนี้ได้ปกครองเมืองสงขลาติดต่อกันมาไม่ขาดสายถึง 8 คน (พ.ศ.2318-2444)

จนกระทั่ง ปี พ.ศ.2379 สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) โปรดเกล้าให้พระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง) ก่อสร้างป้อมกำแพงเมือง ระหว่างที่ก่อสร้าง ตวนกู อาหมัดสะอัด ชักชวนหัวเมืองไทรบุรี ปัตตานี และหัวเมืองทั้ง 7 ยกมาตีสงขลา เมื่อปราบปรามขบถเรียบร้อยแล้ว จึงได้สร้างป้อม และกำแพงเมืองสงขลาจนเสร็จ และได้จัดให้มีการฝังหลักเมืองและได้ย้ายเมืองสงขลา มายังฝั่งตะวันออกของแหลมสน "ตำบลบ่อยาง" คือ ในเขตเทศบาลนครสงขลา ปัจจุบัน

ครั้นถึงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการปฏิรูปการปกครอง ได้ทรงจัดตั้ง มณฑลเทศาภิบาลขึ้น และได้ส่งพระวิจิตรวรสาสน์ (ปั้น สุขุม) ลงมาเป็นข้าหลวงพิเศษตรวจราชการ เมืองสงขลา ในปี พ.ศ.2438 เป็นแห่งแรก และในปี พ.ศ.2439 จึงได้จัดตั้งมณฑลนครศรีธรรมราช (พ.ศ.2439-2458) และเป็นที่ตั้งศาลาว่าการภาคใต้ (พ.ศ.2458-2468) นอกจากนี้เมืองสงขลาเคยเป็น ที่ประทับของสมเด็จพระบรมวงศ์เธอกรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง สมุหเทศาภิบาล และอุปราชภาคใต้ จนสิ้นสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้นถึงปี พ.ศ.2475 ได้มีการยุบมณฑลและภาค เปลี่ยนเป็นจังหวัดสงขลา จึงเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคใต้จนถึงปัจจุบัน

ต้อม รัตภูมิ 0897384215 รายงาน
สนับสนุนโดย
- กฟผ.โรงไฟฟ้าจะนะ www.chana.egat.co.th/home
- มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา www.skru.ac.th
- ธีระการช่าง หาดใหญ่ โทร 086-4910345 www.facebook.com/teerakarnchanghy